คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1557/2547

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

โจทก์ฟ้องจำเลยให้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ เป็นคดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นคดีแรงงานอันเป็นคดีแพ่งประเภทหนึ่ง แม้จำเลยจะให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้ลักทรัพย์ของจำเลยอันมีมูลความผิดอาญาอยู่ด้วย ก็มิใช่ข้ออ้างที่จะมีผลให้มีการพิจารณาลงโทษโจทก์ในการกระทำผิดอาญาเพียงแต่อ้างเพื่อปฏิเสธไม่ต้องรับผิดในคดีแรงงานเท่านั้น หาทำให้กลายเป็นคดีอาญาไปไม่ การพิจารณาคดีนี้จึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 และ 227 มาใช้บังคับได้การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงโดยวิธีการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 จึงชอบแล้ว
โจทก์ลักทรัพย์ของจำเลยอันเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(1) จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

ผู้พิพากษา

รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์
อรพินท์ เศรษฐมานิต
จรัส พวงมณี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android