คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2731/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 19 ก.พ. 2559 16:54:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เอกสารสำคัญประจำตัวเด็กชาย ว. ทั้งตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน อันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นอันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 กับทะเบียนนักเรียนและหนังสือรับรองของโรงเรียนสาธิตอุดมศึกษา ล้วนระบุว่าเด็กชาย ว.เป็นบุตรของผู้ตาย เช่นนี้ เชื่อว่าผู้ตายได้มอบหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตายประกอบการขอออกสูติบัตรของเด็กชาย ว. พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ระบุชื่อผู้ตายเป็นบิดา อันเท่ากับเป็นการยอมรับว่าเด็กชาย ว. เป็นบุตรและยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลแล้วนั่นเอง แม้ไม่มีหนังสือยินยอมแยกต่างหากก็ตาม พฤติการณ์ของผู้ตายที่เลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 1 กับเด็กชาย ว.และยินยอมให้เด็กชาย ว. ใช้ชื่อสกุลของผู้ตายอย่างเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการรับรองว่าเด็กชาย ว. เป็นบุตรของผู้ตายแล้ว ส่วนหลักฐานที่แสดงว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรของผู้ตายก็ปรากฏชัดตามสูติบัตรอันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ทั้งในการแจ้งเกิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีเอกสารประกอบคำขอทั้งสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ตายกับหนังสือยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าผู้ตายรับว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรของตนและยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลด้วยความเต็มใจและอย่างเปิดเผย ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่รับรองว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. เป็นบุตรผู้ตาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเด็กชาย ว. เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายได้รับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627, 1629 (1) ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชาย ว. และผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
หลังจากผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 4 จดทะเบียนหย่า ผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 ยังคงอยู่กินกันฉันสามีภริยาและมีบุตรด้วยกันอีก 6 คน โดยผู้คัดค้านที่ 8 ซึ่งเป็นบุตรคนสุดท้องนั้น ย่อมเป็นข้อสนับสนุนว่า ผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 4 มิได้ถือเอาทะเบียนสมรสเป็นสาระสำคัญของความผูกพันเป็นสามีภริยากัน ทั้งความสัมพันธ์ของบุคคลในการอยู่กินกันและทำมาหาได้ร่วมกันซึ่งทรัพย์สินนั้น หาใช่ว่าบุคคลทั้งสองจะต้องอยู่ร่วมกันในบ้านเดียวกันตลอดเวลาและต้องกระทำสิ่งต่างๆ ร่วมกันในทุกเรื่องทุกราวเสมอไป แม้หากฝ่ายหนึ่งต้องออกไปทำงานนอกบ้านแสวงหาทรัพย์สินเพื่อสร้างฐานะความเป็นอยู่ให้แก่ครอบครัวตามความรู้ความสามารถ ส่วนอีกฝ่ายเพียงทำหน้าที่คอยดูแลบ้านให้มีระเบียบเรียบร้อยและเลี้ยงดูบุตรอย่างไม่บกพร่อง รวมทั้งการให้คำปรึกษาหารือ ส่งเสริมสนับสนุนให้กำลังใจเป็นห่วงเป็นใยและแบ่งปันความทุกข์สุขซึ่งกันและกัน ย่อมเรียกได้ว่าเป็นการอยู่ร่วมกันและช่วยกันทำมาหาได้ซึ่งทรัพย์สินแล้ว ภายหลังผู้คัดค้านที่ 4 ให้กำเนิดผู้คัดค้านที่ 8 ทั้งผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 ต่างมิได้มีคู่สมรสใหม่ หากแต่ยังคงร่วมกันเลี้ยงดูบุตรทั้ง 7 คน อย่างไม่มีข้อบกพร่องตลอดมา ย่อมบ่งชี้ว่าผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 ยังคงมีความสัมพันธ์กันฉันสามีภริยาเช่นเดิม ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 4 อยู่กินกับผู้ตายจนถึงวันที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านที่ 4 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธ์รวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629

ผู้พิพากษา

วิรุฬห์ แสงเทียน
ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี
วรงค์พร จิระภาค

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android