คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 21 ก.พ. 2557 13:46:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การพักงานไม่เกิน 7 วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้างเป็นโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้าง การที่ผู้ร้องมีคำสั่งพักงานผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างและเป็นกรรมการลูกจ้างโดยจ่ายค่าจ้างให้ไม่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการสั่งให้ผู้คัดค้านทั้งสองหยุดทำงานชั่วคราวเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องขออนุญาตลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแรงงานภาค 1 การกระทำของผู้ร้องไม่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52
การละทิ้งหน้าที่ที่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องกรณีร้ายแรงต้องเป็นกรณีลูกจ้างมีหน้าที่ปฏิบัติที่สำคัญให้นายจ้างแล้วไม่ปฏิบัติเป็นเวลานาน เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีหน้าที่สำคัญอย่างไร หากออกไปจากการปฏิบัติหน้าที่แล้วจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องอย่างไร การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ออกไปบอกพนักงานของบริษัทรับเหมาค่าแรงให้ไปรวมตัวกันที่โรงอาหารซึ่งเป็นเวลาช่วงบ่ายใกล้เลิกงานแล้วถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องเป็นกรณีร้ายแรง
การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ละทิ้งหน้าที่แต่ยังไม่ถึงขนาดหรือมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำร้องของผู้ร้อง เมื่อศาลแรงงานภาค 1 เห็นว่าผู้ร้องควรลงโทษด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือเสียก่อน ศาลแรงงานภาค 1 ก็สามารถอนุญาตให้ลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือซึ่งเป็นโทษที่อยู่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง และเป็นโทษสถานเบากว่าการเลิกจ้างได้ ถือเป็นการใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำขอ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52

ผู้พิพากษา

นิยุต สุภัทรพาหิรผล
ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
วิรุฬห์ แสงเทียน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android