คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15364/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 13 ส.ค. 2557 16:01:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้คดีนี้และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 ของศาลชั้นต้น จะเป็นคดีที่มีมูลละเมิดอย่างเดียวกัน จำเลยที่ 3 กับโจทก์ต่างเป็นคู่ความรายเดียวกัน แต่การที่จำเลยที่ 3 รับจำเลยคนอื่นๆ ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 กับการที่จำเลยที่ 3 รับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าร่วมเดินรถรับส่งผู้โดยสารเป็นคดีนี้เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน โดยร่วมกับบุคคลต่างกัน หาใช่บุคคลผู้เป็นคู่ความรายเดิมไม่ ข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ที่ว่า จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดในคดีนี้ จึงเป็นเรื่องที่เกิดต่างกรรมต่างวาระจากมูลละเมิดในคดีดังกล่าว ทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 ของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
การที่จำเลยทั้งสามส่งสำเนาคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2132/2551 ของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกา โดยในคำฟ้องระบุว่า พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นโจทก์ฟ้อง ช. ในความผิดฐานเบิกความเท็จในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 384/2546, 386/2546, 389/2546 ของศาลชั้นต้น นั้น ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว จำเลยทั้งสามเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นการนำพยานเอกสารเข้าสู่สำนวนความโดยไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 ทั้งโจทก์ไม่มีโอกาสซักค้านเกี่ยวกับพยานเอกสารดังกล่าวนี้ ข้อเท็จจริงตามเอกสารนั้นจึงรับฟังไม่ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173

ผู้พิพากษา

นพพร โพธิรังสิยากร
ศรีอัมพร ศาลิคุปต์
สุทธิโชค เทพไตรรัตน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android