คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2520/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 21 ก.พ. 2557 12:38:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 2 ในค่าก่อสร้างอาคารให้แก่โจทก์ ซึ่งขณะทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องนั้นจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารให้แก่จำเลยที่ 2 และยังไม่ทราบจำนวนค่าวัสดุก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์ จึงทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องไว้จำนวน 10,250,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากจำเลยที่ 2 ทั้งหมดตามสัญญาจ้างเผื่อไว้ โดยสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อ 2 ระบุว่าหากเงินที่ได้รับโอนตามสิทธิเรียกร้องเกินกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ ให้โจทก์คืนส่วนที่เกินแก่จำเลยที่ 1 ในวันที่โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 2 แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องตามจำนวนค่าวัสดุก่อสร้างที่ซื้อไปจากโจทก์เท่านั้น แม้สัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อ 3 จะมีข้อตกลงว่า หากเกิดความเสียหายใดๆ แก่ผู้รับโอนอันเนื่องมาจากการรับโอนสิทธิในการรับเงินรายนี้ ผู้โอนยินยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับโอนทั้งสิ้นก็ตาม ก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยินยอมผูกพันยอมชำระหนี้แก่โจทก์แม้จะได้โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงผิดแผกแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายและไม่ใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีหรือเป็นข้อตกลงที่ต้องห้ามตามกฎหมายจึงย่อมมีผลบังคับได้ เมื่อโจทก์บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องก็สมบูรณ์ตามกฎหมายโดยจำเลยที่ 2 ไม่อาจโต้แย้งการโอนสิทธิเรียกร้องได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306

ผู้พิพากษา

สมชาย พันธุมะโอภาส
พิศล พิรุณ
ทวีป ตันสวัสดิ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android