คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18884/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 3 มิ.ย. 2559 16:10:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้ตามสำเนาสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงเอกสารหมาย ล. 11 ระบุข้อความว่า โจทก์เป็นผู้ประพันธ์เพลงตกลงโอนขายและ ศ. ตกลงซื้อลิขสิทธิ์เพลงรวมเพลงพิพาทในคดีนี้ด้วย โดยการโอนนี้เป็นการโอนขายลิขสิทธิ์ทั้งหมดและเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์ ศ. ผู้ซื้อตกลงจ่ายเงินให้แก่โจทก์ 190,000 บาท ในวันที่ 3 ธันวาคม 2527 อันเป็นวันทำสัญญา แต่ปรากฏในหน้า 2 ของสัญญาเอกสารหมาย ล. 11 ว่า ศ. ได้จ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์อีก 30,000 บาท หลังวันทำสัญญาแล้วนานถึง 6 ปี 15 วัน แสดงให้เห็นว่าค่าตอบแทนตามสัญญามิได้มีการจ่ายให้แก่กันเป็นเงิน 190,000 บาท เพียงครั้งเดียวตามที่ระบุไว้ในสัญญาเอกสารหมาย ล. 11 ข้อ 3 แม้สัญญาในข้อ 1 จะระบุว่าเป็นการโอนขายลิขสิทธิ์และเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์ ก็ไม่มีเหตุผลพอเชื่อว่าเป็นสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ทั้งหมดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์เพราะหากเป็นการโอนขายลิขสิทธิ์ทั้งหมดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์จริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ ศ. ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่โจทก์ภายหลังวันทำสัญญาอีก การที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้โจทก์อีกภายหลังกลับมีเหตุให้เชื่อว่าสัญญาดังกล่าวเป็นเพียงสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เท่านั้น มิใช่สัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ทั้งหมด เมื่อสัญญาเอกสารหมาย ล. 11 เป็นสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์เพียงแต่ชื่อ แต่เจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาระหว่างโจทก์กับ ศ. เป็นการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์ ลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าวจึงยังคงเป็นของโจทก์ มิได้ตกเป็นของ ศ. ดังนั้น ศ. จึงมีสิทธิเฉพาะตัวในฐานะเป็นผู้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าว และมีขอบเขตในสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเท่านั้น ศ. จึงไม่มีสิทธินำเพลงดังกล่าวไปอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในลิขสิทธิ์อีก
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 17

ผู้พิพากษา

ปริญญา ดีผดุง
อร่าม เสนามนตรี
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android