คำพิพากษาย่อสั้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการบริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ ซึ่งรวมทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. ด้วย โดยรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขวิกฤตของบริษัทต่างๆ ดังกล่าว ด้วยการออก พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 จัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อดำเนินการแก้ไขฟื้นฟู ชำระบัญชีของบริษัทดังกล่าว ทั้งยังให้อำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในวัตถุประสงค์ขององค์การ ซึ่งรวมทั้งอำนาจถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักรโดยมีคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 16 (3) กำหนดวิธีการชำระบัญชีและขายทรัพย์สินของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการที่ไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ ดังนี้ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดยคณะกรรมการดังกล่าวจึงมีอำนาจขายทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. ซึ่งรวมทั้งหนี้ของจำเลยทั้งสองได้
แม้โจทก์จะไม่ใช่ผู้ประมูลซื้อหนี้ดังกล่าวกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดยตรง และขณะนั้นโจทก์ยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่อำนาจการจัดการทรัพย์สินของบริษัทที่ถูกระงับกิจการเป็นอำนาจขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดยตรงที่จะจัดการขาย โอนหรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทที่ถูกระงับกิจการได้ตามมาตรา 8 (1) ดังนั้น การที่บริษัท ล. ซึ่งเป็นผู้ประมูลหนี้ดังกล่าวได้จากการขายขององค์กรเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โอนสิทธิการซื้อดังกล่าวให้แก่โจทก์ในขณะที่โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว โดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เป็นผู้กระทำการแทนผู้ขายคือสถาบันการเงินที่ถูกระงับ จึงเป็นอำนาจขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ที่จะกระทำเช่นนั้นได้