คำพิพากษาย่อสั้น
พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 25 ตรี วรรคสอง วางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000 บาท ถึง 200,000 บาท แต่ พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง วางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องถือว่า พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายฐานนี้ให้ถูกต้องได้
ความผิดฐานเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายไว้เพื่อจำหน่ายขาย และทำการจำหน่ายขายในสถานที่ที่มิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 48 นั้นปรากฏว่าขณะคดีนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 มาตรา 7 (1) บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการเก็บรักษา และการควบคุมอื่นเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อมาได้มีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อที่ 2 (3) กำหนดให้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่า 37.8 องศาเซลเซียส เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมาก ดังนั้น น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วออกเทน 95 ซึ่งมีจุดวาบไฟต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส อันเป็นเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 4 (3) ถือว่าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมากตาม พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 เมื่อสถานีบริการน้ำมันของจำเลยเป็นสถานีบริการน้ำมันที่เก็บรักษาน้ำมันชนิดไวไฟมากไว้ในถังน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีบริการน้ำมันของจำเลยจึงเป็นสถานีบริการน้ำมันประเภท ง ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อ 15 ซึ่งแก้ไขโดยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 ข้อ 2 อันเป็นกิจการควบคุมประเภทที่ 2 ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อ 19 (3) ซึ่งกฎกระทรวงข้อที่ 21 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกิจการต้องแจ้งการประกอบกิจการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบ ธฑ.น. ท้ายกฎกระทรวง โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ การที่จำเลยประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 การกระทำของจำเลยแม้เป็นความผิดดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง จำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225