คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10971/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 27 มี.ค. 2558 14:16:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณากำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดหน้าที่นำสืบ พยานจำเลยไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ไม่ต้องนำการชี้สองสถาน ป.วิ.พ. มาตรา 183 มาใช้บังคับ เมื่อไม่มีการชี้สองสถานโจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ได้ เดิมศาลแรงงานกลางนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 28 เมษายน 2548 แล้วเลื่อนคดีไปเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 จึงถือเอาวันนัดสืบพยานเดิมเป็นวันสืบพยานไม่ได้ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องวันที่ 28 เมษายน 2548 เป็นการยื่นก่อนวันสืบพยานในวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 ไม่น้อยกว่า 7 วัน แล้ว ทั้งคำฟ้องเดิมและคำฟ้องที่ขอแก้ไขพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงมีสิทธิแก้ไขคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179, 180 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ตามหนังสือสัญญาข้อตกลงและให้คำยินยอมของพนักงานกับตามหนังสือสัญญาให้คำยินยอมของพนักงานห้ามโจทก์เฉพาะไม่ให้โจทก์ไปทำงานในบริษัทคู่แข่งหรือไม่ไปทำงานบริษัทอื่นใดที่ประกอบกิจการประเภทเดียวกันกับจำเลยและบริษัทในเครือในลักษณะที่จะสามารถแข่งขันกับจำเลยได้ภายในระยะเวลาตามกำหนดเท่านั้น มิได้เป็นการตัดการประกอบอาชีพของโจทก์เสียทั้งหมด อีกทั้งจำเลยยินดีมอบหุ้นของจำเลย 1,000 หุ้น เป็นการให้เปล่าแก่โจทก์หลังจากจำเลยแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนแล้วอันเป็นสัญญาต่างตอบแทนต่อกันในเชิงการประกอบธุรกิจ ประกอบกับธุรกิจขายแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อมีคู่แข่งทางการค้ากับจำเลย จำเลยมีข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนในการวางระบบและอุปกรณ์เป็นความลับทางการค้า โจทก์เป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการร้านสะดวกซื้อ มีหน้าที่จัดวางระบบ จัดเตรียมอุปกรณ์และร้านให้ลูกค้า ซึ่งเป็นการดูแลงานโครงสร้างร้านค้าของลูกค้า โจทก์จึงมีโอกาสทราบความลับทางการค้าของจำเลย และในการติดต่อลูกค้าให้เปิดร้านแฟรนไชส์ต้องใช้เวลาดำเนินการระยะหนึ่ง เมื่อคำนึงถึงทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และจำเลยแล้ว การจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของโจทก์อันเป็นการแข่งขันกับจำเลยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 11 เดือน นับจากวันที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยจึงไม่ทำให้โจทก์ผู้ถูกจำกัดสิทธิต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39

ผู้พิพากษา

วิรุฬห์ แสงเทียน
ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android