คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18894/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 17 มี.ค. 2558 16:05:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่ผู้ตายกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีที่ผู้ตายฟ้องหย่าจำเลย และมีข้อตกลงเกี่ยวกับที่ดินพิพาทว่าผู้ตายจะโอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย เป็นเรื่องของการหย่าโดยความตกลงและมีข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา แม้จะเป็นข้อตกลงที่ผิดแผกแตกต่างจากที่ ป.พ.พ. มาตรา 1533 บัญญัติไว้ว่า ให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งเป็นข้อตกลงให้โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของผู้ตายเท่านั้น หาใช่โอนกรรมสิทธิ์ในส่วนของจำเลยที่มีอยู่แล้วโดยผลของกฎหมายไม่ ข้อตกลงระหว่างผู้ตายกับจำเลยจึงมิใช่การจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย หรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 ย่อมไม่มีผลเป็นโมฆะและสามารถบังคับกันได้ตามคำพิพากษาตามยอม เมื่อจำเลยได้โอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งแปลงย่อมเป็นของจำเลยโดยสมบูรณ์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยจึงมีสิทธิที่จะยึดถือโฉนดที่ดินพิพาทไว้โดยไม่ต้องส่งมอบแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533
  • พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12

ผู้พิพากษา

ชาติชาย อัครวิบูลย์
ประยูร ณ ระนอง
อดิศักดิ์ ปัตรวลี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android