คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งอื่นมีหน้าที่ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดเหตุมาส่งมอบให้ผู้รับตราส่งที่ท่าเรือฮ่องกง และเมื่อตู้คอนเทนเนอร์ถูกยกขึ้นจากเรือไปวางบนลานพักสินค้าของการท่าเรือฮ่องกง ถือว่าหน้าที่ในการขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 2 ได้สิ้นสุดลง ตู้คอนเทนเนอร์ที่ได้ส่งมอบไว้ที่การท่าเรือฮ่องกงถือว่าไม่ได้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 แล้ว การพบเหตุเพลิงไหม้ภายในตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าพิพาทหลังจากมีการลากตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวไปยังโรงพักสินค้า ไม่อาจถือได้ว่าความเสียหายของสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์เกิดในระหว่างที่ตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39
การติดเครื่องหมายและสัญลักษณ์ไว้ที่ถังให้เห็นได้ชัดเจนนั้นไม่ใช่เจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการแจ้งถึงสภาพอันตรายของสินค้าให้ผู้ขนส่งทราบ เพื่อให้ผู้ขนส่งทราบสภาพอันอาจก่อให้เกิดอันตรายและกระทำการเพื่อป้องกันด้วยการจัดระวางสินค้าอันตรายให้เหมาะสมและปิดเครื่องหมายอันตรายไว้ที่ตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าอันตรายนั้นด้วย แต่หากผู้ขนส่งได้ทราบถึงอันตรายของสินค้า เช่น มองเห็นจากเครื่องหมายอันตรายที่ติดประทับอยู่ที่ถังบรรจุสินค้า ก็อาจทำให้จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดในความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายอันเกิดขึ้นเนื่องในการขนส่งสินค้าอันตรายนั้นตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 34 (2)
ความรับผิดของผู้ส่งของในกรณีที่ผู้ส่งของไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มิได้บัญญัติถึงเรื่องอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. กำหนด 10 ปี กรณีไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความของผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 46 มาใช้บังคับแก่ผู้ส่งของได้
พยานหลักฐานมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า สินค้าอาจต้องมีการตรวจสอบถึงประสิทธิภาพในการทำงาน แต่การที่ส่งกลับมาตรวจสอบประสิทธิภาพที่ประเทศไทย รวมทั้งเปลี่ยนกล่องบรรจุสินค้าใหม่จะมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งเมื่อผู้ซื้อทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว แสดงเจตนาไม่ยอมรับสินค้าดังกล่าว ถือว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สินค้าดังกล่าวแล้ว การนำออกประมูลขายที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงจึงน่าจะเป็นวิธีการบรรเทาความเสียหายของสินค้าได้ดีกว่าวิธีอื่น กรณีถือว่าสินค้าเสียหายอย่างสิ้นเชิงโดยปริยาย
เมื่อความเสียหายที่แท้จริงของผู้เอาประกันภัยนั้นคือการไม่ได้รับสินค้าที่มีสภาพถูกต้องครบถ้วน ณ สถานที่ส่งมอบปลายทาง อันมูลค่าสินค้าในเวลาและสถานที่นั้นย่อมต้องรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหลายที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมด้วย ประกอบกับสินค้าในคดีคือเครื่องจักรและปั๊มน้ำ 110 หน่วย ที่ต้องถูกขนส่งจากกรุงเทพมหานครไปยังประเทศเอลซัลวาดอร์ ซึ่งการเดินทางมีระยะทางไกลและต้องใช้เวลาในการเดินทางทางเรือค่อนข้างนานนั้นเป็นสินค้าใหม่ ราคาสินค้าตามท้องตลาดที่ปลายทางจึงอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกด้วย การที่โจทก์จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยเต็มตามสัญญาซึ่งสูงกว่าราคาสินค้าที่เป็นราคา ซีไอเอฟ (CIF) ร้อยละ 10 ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาประกันภัยไป จึงเชื่อได้ว่าเป็นการจ่ายโดยชอบตามความเสียหายที่แท้จริงแล้ว โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย