คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6729/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 พ.ย. 2559 15:08:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะโดยประมาทพยายามแซงรถยนต์บรรทุกพ่วงที่จำเลยที่ 3 ขับ แต่จำเลยที่ 3 ก็ขับในลักษณะไม่ยอมให้แซง จึงเป็นเหตุให้รถยนต์กระบะและรถยนต์บรรทุกพ่วงแล่นตีคู่กันไปข้างหน้าด้วยความเร็วโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของรถที่แล่นสวนมาในช่องเดินรถฝั่งตรงข้าม เมื่อโจทก์ที่ 2 ขับรถยนต์แล่นสวนทางมา รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขับเฉี่ยวชนกันแล้วเสียหลักไปชนกับรถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 ขับ ดังนี้ จำเลยที่ 3 มีส่วนประมาททำให้เกิดเหตุในคดีนี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีส่วนประมาททำให้เกิดความเสียหายอันเดียวกันจึงพิพากษาให้ร่วมกันรับผิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438
คำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ใช้บังคับเฉพาะคู่ความในคดีอาญาเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้ถูกฟ้องคดีอาญาจึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญามาฟังเป็นยุติในคดีส่วนแพ่ง
ค่าโลงศพเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดงานศพ ส่วนอาหารก็เป็นเรื่องจำเป็นที่เจ้าภาพต้องจัดเตรียมไว้จึงไม่ใช่ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคหนึ่ง
โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคนฟ้องจำเลยทั้งหกให้รับผิดฐานละเมิดมาในคดีเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่หนี้ร่วมที่ไม่อาจแบ่งแยกกันได้ การคิดทุนทรัพย์ต้องแยกของโจทก์แต่ละคน เมื่อจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา การที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยารับคดีไว้พิจารณาพิพากษาจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นขึ้นว่ากล่าวได้ในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้าง และต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 คดีนี้ โจทก์ทั้งสี่ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งไม่มีอำนาจที่จะรับฟ้องไว้พิจารณา แต่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 กลับยินยอมให้ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาดำเนินกระบวนพิจารณา โดยสืบพยานโจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งหกจนทั้งสองฝ่ายแถลงหมดพยานและศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิพากษาคดีแล้ว เท่ากับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ยอมปฏิบัติตามที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นอันเป็นการให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นแล้ว จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่อาจยกการผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างได้
อนึ่ง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้โจทก์แต่ละคนได้รับค่าสินไหมทดแทนแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 415,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นเงิน 250,348 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยมิได้แยกเป็นความรับผิดต่อโจทก์แต่ละคน ทั้งให้จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยของจำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนนั้น ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438

ผู้พิพากษา

สมชาย จุลนิติ์
มานัส เหลืองประเสริฐ
ทวี ประจวบลาภ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android