คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14036/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 27 ม.ค. 2558 12:10:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 บัญญัติห้ามนายจ้างหักค่าจ้างลูกจ้างก็ตาม แต่การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ไม่เชื่อฟัง และแสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ไม่ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของบริษัท ไม่อุทิศเวลาของตนให้แก่การงาน ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานด้วยการตัดค่าจ้างนั้น การลงโทษของจำเลยมิใช่เป็นการหักค่าจ้างโจทก์แต่เป็นกรณีการลงโทษตามวินัยการทำงานซึ่งได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ทั้งไม่ปรากฏว่าคำสั่งตัดค่าจ้างของจำเลยเป็นคำสั่งลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ด้วยการตัดเงินเดือน โดยมีวิธีการตัดเงินเดือนด้วยการจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์เต็มจำนวนแล้วให้โจทก์ส่งเงินค่าจ้างคืนแก่จำเลย เป็นเพียงคำสั่งในการบังคับตามโทษทางวินัย แม้โจทก์จะได้รับทราบคำสั่งแล้วก็ตาม หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งลงโทษจำเลยก็ชอบที่จะบังคับตามคำสั่งลงโทษได้ด้วยวิธีอื่นเนื่องจากข้อบังคับของจำเลยไม่ได้กำหนดวิธีหักเงินเดือนไว้ การที่โจทก์ไม่นำเงินค่าจ้างมาคืนจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและจำเลยมีหนังสือตักเตือนแล้วจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
ไม่มีบทกฎหมายใดให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยในค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
  • ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13

ผู้พิพากษา

นิยุต สุภัทรพาหิรผล
ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
วิรุฬห์ แสงเทียน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android