คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7195/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 9 มี.ค. 2559 14:52:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ว่าจ้างจำเลยทำแม่พิมพ์พื้นเตารีดในราคา 100,000 บาท จำเลยทำเสร็จพร้อมกับได้รับค่าจ้างแล้ว หลังจากนั้นโจทก์จ้างจำเลยใช้แม่พิมพ์ดังกล่าวผลิตพื้นเตารีดโดยโจทก์เป็นผู้จัดหาสัมภาระ คือแท่งทองแดงนำความร้อน 16,762 ชิ้น และจำเลยต้องผลิตพื้นเตารีดตามจำนวนแท่งทองแดงนำความร้อนดังกล่าวในราคาค่าจ้างชิ้นละ 32 บาท จำเลยผลิตเสร็จแล้วและแจ้งให้โจทก์ชำระค่าจ้าง 536,384 บาท แต่โจทก์ไม่ชำระ กลับมีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งมอบแม่พิมพ์พร้อมทั้งแท่งทองแดงนำความร้อน 16,762 ชิ้น คืนโจทก์ จำเลยจึงใช้สิทธิยึดหน่วงแม่พิมพ์และแท่งทองแดงนำความร้อนอันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นเตารีด ต่อมาจำเลยได้แยกอะลูมิเนียมออกจากแท่งทองแดงนำความร้อนที่ผลิตเป็นพื้นเตารีดจนไม่มีสภาพเป็นพื้นเตารีดอีกต่อไป ถือได้โดยปริยายว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกัน เมื่อโจทก์จำเลยคู่สัญญาไม่ได้มีข้อตกลงกันไว้และไม่มีทางจะบังคับเป็นอย่างอื่น ก็ต้องอนุโลมบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 คือ โจทก์จำเลยจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม สำหรับแม่พิมพ์หากส่งคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคา 100,000 บาท
สัญญาที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยผลิตพื้นเตารีดเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทนตามมาตรา 369 เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้ว โจทก์กับจำเลยต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. 391 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้ มาตรา 391 วรรคสี่ ยังบัญญัติว่า การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ ซึ่งมีความหมายว่า การเลิกสัญญานั้นไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นก่อนแล้ว กล่าวคือ ถ้าลูกหนี้มีความรับผิดที่ไม่ชำระหนี้ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย เจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213, 215, 216 เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ทำการผลิตพื้นเตารีดตามที่โจทก์สั่งเสร็จแล้วแต่โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้างซึ่งจำเลยทวงถามให้ชำระแล้ว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดนัดก่อนมีการเลิกสัญญาแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้แม้ภายหลังโจทก์จำเลยจะเลิกสัญญาต่อกัน และแม้กรณีนี้จำเลยไม่ได้ส่งมอบพื้นเตารีดที่ผลิตเสร็จให้โจทก์ โดยจำเลยได้แยกอะลูมิเนียมออกจากแท่งทองแดงนำความร้อนที่ผลิตเป็นพื้นเตารีดออกจากกันจนไม่มีสภาพเป็นพื้นเตารีดอีกต่อไป จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับการงานอันจำเลยได้กระทำให้ที่จำเลยจะมีสิทธิได้รับค่าแห่งการงานนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก็ตาม แต่จำเลยก็ได้แสดงให้เห็นถึงความเสียหายส่วนนี้มาในคำให้การแล้ว ศาลจึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้จำเลย แล้วนำมาหักกับราคาแท่งทองแดงนำความร้อนที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ก่อนได้ ตามหลักในเรื่องสัญญาต่างตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 392 ประกอบมาตรา 369
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 216
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 392
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587

ผู้พิพากษา

มนูพงศ์ รุจิกัณหะ
สมควร วิเชียรวรรณ
ธนสิทธิ์ นิลกำแหง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android