คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3120/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 10 พ.ย. 2559 10:06:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้ง แต่อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้กล่าวอ้างเพียงพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และเลขมาตรา จำนวน 6 มาตรา เท่านั้น โดยมิได้บรรยายให้ปรากฏในอุทธรณ์ว่า กฎหมายและบทมาตราดังกล่าวมีหลักเกณฑ์สำคัญที่โจทก์จะต้องบรรยายประกอบข้อกล่าวอ้างมาในคำฟ้องด้วยอย่างไร อุทธรณ์ข้อนี้จึงไม่ชัดแจ้งและต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี โดยในข้อ 2 ระบุว่า "......โจทก์ไม่ได้เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โจทก์จึงไม่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ตามคำฟ้องในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จริง เพราะการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตามมาตรา 184 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กระทำได้โดยบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิก......" จึงเป็นข้อต่อสู้ในประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิดำเนินการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือไม่เท่านั้น หาได้ให้การต่อสู้ว่าคำฟ้องของโจทก์ต้องบรรยายข้อเท็จจริงให้เข้าข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 184 จึงจะเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังที่จำเลยยกขึ้นในชั้นฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงนอกคำให้การถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 5 ท้ายประมวลรัษฎากรระบุว่า "5. กู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารค่าอาการแสตมป์ 1 บาท ทุกจำนวนเงิน 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท แห่งยอดเงินที่กู้ยืมหรือตกลงให้เบิกเกินบัญชี" ตามบทบัญญัติดังกล่าวระบุเอกสารไว้เพียง 2 ประเภท คือสัญญากู้เงินกับสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร สัญญากู้เงินมีความแตกต่างจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เนื่องจากการกู้เงินคู่สัญญาย่อมจะทราบจำนวนเงินอันเป็นวัตถุประสงค์ของสัญญาได้ทันที และสามารถปิดอากรแสตมป์ไปตามจำนวนดังกล่าวได้ แต่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแม้ในทางปฏิบัติจะเรียกว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี แต่ก็มิใช่สัญญากู้เงินทั่วไป เนื่องจากขณะทำสัญญาเป็นเพียงการกำหนดวงเงินที่ลูกหนี้จะทำการก่อหนี้ได้เท่านั้น ส่วนลูกหนี้จะขอกู้และเป็นหนี้ในจำนวนใดยังไม่ทราบแน่ชัดในขณะทำสัญญา บัญชีอัตราอากรแสตมป์จึงระบุไว้ให้ถือเอาวงเงินที่ตกลงให้เบิกเกินบัญชีเป็นจำนวนที่จะคำนวณค่าอากรแสตมป์ หาใช่จำนวนที่เป็นหนี้กันจริงไม่ เมื่อพิจารณาถึงสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด ที่กำหนดวัตถุประสงค์ให้บริษัทตัวแทนจ่ายเงินทดรองอันถือเป็นเงินกู้ยืมเพื่อชำระค่าหลักทรัพย์ที่ลูกค้าสั่งซื้อ โดยให้มีการหักทอนบัญชีกันเป็นครั้งคราว หรือบันทึกข้อตกลงในการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์นั้นมาวางเป็นประกัน แสดงว่าในขณะทำสัญญายังไม่ทราบจำนวนยอดเงินที่เป็นหนี้ควรทราบแต่เพียงวงเงินที่อนุมัติไว้ตามใบคำขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งนี้ตามวงเงินจะบังเกิดมีขึ้นหรือไม่ก็ไม่เป็นที่แน่ชัด อยู่ที่การสั่งซื้อของลูกค้าและการหักทอนบัญชีอันจะมีระหว่างคู่สัญญา กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการกู้ตามความประสงค์ของข้อ 5. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ คงมีลักษณะเป็นเพียงการกำหนดวงเงินเพื่อหักทอนบัญชีเดินสะพัด แต่ข้อ 5 แห่งบัญชีดังกล่าวกำหนดให้การตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารเท่านั้นที่จะเสียค่าอากรแสตมป์ตามยอดที่ตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชี หาได้บัญญัติรวมมาถึงสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด ดังที่ปรากฏในคดีนี้ด้วยไม่ และกรณีไม่อาจตีความหมายที่กำหนดไว้ให้ครอบคลุมถึงได้ จึงต้องถือว่าสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัดมิใช่เอกสารที่มีการระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แม้มิได้ปิดอากรแสตมป์ศาลชอบที่จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้
จำเลยต่อสู้คดีโดยเริ่มจากคำให้การ การนำสืบพยานจำเลย อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาโดยตลอดว่า สภาพแห่งข้อหาที่โจทก์ฟ้อง เป็นเรื่องบริษัทหลักทรัพย์และตัวแทนนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ต้องปฏิบัติและเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษโดยเฉพาะ แต่ไม่ปรากฏในทางนำสืบของจำเลยว่า บทกฎหมายพิเศษที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างได้บัญญัติให้การสั่งซื้อหรือการบังคับขายหลักทรัพย์จะต้องจัดทำเป็นหนังสือ ในทางตรงกันข้ามกลับปรากฏจากสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจำเลยทำไว้ต่อโจทก์ ในข้อ 1 "...คำว่า "คำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ ให้หมายความรวมถึง คำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยวาจา โดยโทรสาร โทรพิมพ์ หรือโดยวิธีอื่นใด" จึงเห็นได้ว่า คำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือเสมอไป ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยคดีมานั้น จึงหาเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ผิดกฎหมายดังที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อฎีกาไม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นตามคำให้การ ข้อ 7 ว่า หากโจทก์ไม่ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ของจำเลยตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำเลยก็สามารถสั่งขายหลักทรัพย์ของตนได้ ดังนั้น หากโจทก์ไม่ดำเนินการบังคับขาย จำเลยก็ไม่หลุดพ้นจากความรับผิด อันเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นซึ่งเกิดจากคำให้การ ข้อ 7 ของจำเลยแล้ว ซึ่งหากจำเลยไม่เห็นด้วยกับข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งข้อวินิจฉัยในประเด็นนี้ของศาลชั้นต้น แต่จำเลยกลับบรรยายอุทธรณ์เกี่ยวกับข้อต่อสู้ในคำให้การ ข้อ 7 อยู่ในอุทธรณ์หน้าที่ 14 ข้อ 1.7 ในทำนองว่าศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยให้จำเลยทุกข้อที่จำเลยกล่าวอ้าง ทั้ง ๆ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ตามประเด็นที่ยกขึ้นในคำให้การแล้ว ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยเพราะเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระ จึงชอบแล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245
  • พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 184

ผู้พิพากษา

สมชาย จุลนิติ์
มานัส เหลืองประเสริฐ
ทวี ประจวบลาภ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android