คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5470/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 29 ก.ค. 2556 14:38:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีแรงงานไม่จำต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง เนื่องจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับคดีแรงงานได้บัญญัติไว้แล้วในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง และการกำหนด ให้คู่ความฝ่ายใดในคดีแรงงานนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ
แม้ศาลแรงงานกลางจะมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีร้ายแรงหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยหรือไม่ แต่การวินิจฉัยประเด็น ข้อพิพาทดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางก็เกี่ยวเนื่องโดยตรงที่จะวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเป็นไปดังคำฟ้องหรือคำให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและจะต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวได้โดยมิใช่เป็นการวินิจฉัยเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39

ผู้พิพากษา

ปดารณี ลัดพลี
ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android