คำพิพากษาย่อสั้น
เงินที่มีการทุจริต บางส่วนเป็นเงินงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาคในสังกัดของโจทก์ บางส่วนเป็นงบกลางอยู่ภายใต้การครอบครองดูแลของคลังจังหวัดอุบลราชธานี แต่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีจะต้องทำฎีกาขอเบิกจากคลังจังหวัดอุบลราชธานี ตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ. 2520 เมื่อคลังจังหวัดอุบลราชธานีจ่ายเงินให้กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว เงินดังกล่าวก็อยู่ในความครอบครองดูแลของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ถ้ามีเงินเบิกเกินมาแล้วไม่ได้จ่ายหรือจ่ายไม่หมด ส่วนราชการผู้เบิกต้องนำส่งคืนคลังภายใน 15 วัน นับจากวันรับเงินจากคลัง ตามข้อ 53 วรรคสอง และข้อ 66 วรรคหนึ่ง ของระเบียบฉบับเดียวกัน การที่มีการทุจริตไม่นำเงินที่เกินกว่าหลักฐานการจ่ายส่งคืนคลังจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีการเบียดบังเงินดังกล่าวไปโดยทุจริต โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้อง
หนังสือมอบอำนาจมิได้ระบุว่าให้ฟ้องผู้ใดบ้าง แต่การระบุให้ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับการทุจริต หรือต้องชดใช้เงินคืนทุกเรื่องเกี่ยวกับการเงินของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ย่อมหมายความถึงดำเนินการฟ้องร้องหรือเรียกเงินคืนจากผู้ทุจริตหรือผู้ต้องรับผิดชอบคืนเงินที่เบียดบังเอาเงินงบประมาณของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบจนทราบตัวข้าราชการที่ต้องรับผิดชอบชดใช้เงินของโจทก์ได้แล้ว
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 ร่วมกันทำละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 ผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 ตามสายงานต้องร่วมรับผิดในการละเมิดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 ได้ จำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 จะต้องรับผิดชอบเฉพาะการกระทำในส่วนที่จำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 แต่ละคนได้กระทำไปด้วยความประมาทเลินเล่อเท่านั้น
การที่ผู้เบิกได้ลงลายมือชื่อในฎีกาเบิกเงินเดือนโดยตรวจข้อความและหลักฐานของแต่ละฎีกาที่เสนอขึ้นมาให้ลงลายมือชื่อแล้วมีจำนวนเงินตรงกันกับหลักฐาน ไม่อาจถือได้ว่าผู้เบิกปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องหรือประมาทเลินเล่อ อย่างไรก็ตาม หากผู้เบิกที่มีหน้าที่ลงลายมือชื่อเบิกเงินในฎีกาเบิกเงินเดือนเป็นประจำหรือบ่อยครั้งอาจตรวจพบความผิดปกติในฎีกาเบิกเงินจากจำนวนเงินที่ขอเบิกสูงกว่าฎีกาอื่นอย่างมากและเป็นการเบิกซ้ำซ้อนกับที่เคยขอเบิกไปแล้ว จำเลยที่ 2 มิได้เป็นหัวหน้าส่วนราชการกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี จึงไม่มีหน้าที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงินในฎีกา และรับผิดชอบตรวจสอบเงินที่เบิกมาจากคลังจังหวัด แต่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงินในฎีกาแทนจำเลยที่ 15 เฉพาะในกรณีที่จำเลยที่ 15 ไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงไม่อาจตรวจสอบได้ว่า มีการเบิกเงินจำนวนสูงผิดปกติ และซ้ำซ้อนกับที่เบิกมาแล้วหรือไม่ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ โดยไม่ใช้ความระมัดระวังและประมาทเลินเล่อ แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีอาวุโส รักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากต้องลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงินในฎีกาแล้วยังต้องรับผิดชอบดูแลรักษาเงินการจ่ายเงิน หลักฐานการจ่ายเงินที่เบิกจากคลังจังหวัดและตรวจสอบบัญชีเงินคงเหลือตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. 2520 การที่จำเลยที่ 2 เบิกความรับว่า ได้มอบหมายให้สารวัตรการเงินและบัญชีดูแลรับผิดชอบโดยจะตรวจสอบหลักฐานการจ่ายเป็นครั้งคราวเท่านั้น หากไม่ได้รับรายงานเงินคงเหลือก็ไม่อาจทราบได้ว่ามีจำนวนเงินที่ต้องส่งคืนคลังจังหวัดหรือไม่ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ตรวจสอบหลักฐานการใช้จ่ายเงินที่เบิกมา ทำให้มีการทุจริตเบียดบังเอาเงินคงเหลือที่เกินกว่าหลักฐานการจ่ายไป ถือว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ประมาทเลินเล่อ
จำเลยที่ 17 เป็นหัวหน้าส่วนราชการกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ต้องดูแลรับผิดชอบผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายและระเบียบแบบแผนของทางราชการการที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 17 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตทำให้ราชการได้รับความเสียหาย แม้จะมีบุคคลหลายคนร่วมกันทำเป็นขบวนการ แต่ไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 17 ไม่สามารถป้องกันได้ จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 17 ทราบอยู่แล้วว่า มีเงินที่จะต้องเบิกจากคลังจังหวัดเป็นประจำทุกเดือนและจ่ายให้แก่ผู้รับในวันสิ้นเดือนนั้น มีฎีกาเบิกเงินเดือน และฎีกาเบิกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ที่จะต้องทำฎีกาเบิกจากคลังจังหวัดภายในทุกวันที่ 15 ของเดือน แต่ละประเภทเดือนละ 1 ครั้ง และนำไปจ่ายให้แก่ข้าราชการในวันสิ้นเดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2527 ซึ่งจำเลยที่ 17 เข้าดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี มีการทุจริตทำฎีกาไม่ปกติเบิกเงินเดือนและเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ทุกเดือนเสนอสลับไปกับฎีกาปกติเบิกเงินเดือน และเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ตามปกติ ทำให้จำนวนฎีกาที่นำเสนอเบิกเงินจากคลังจังหวัดมีมากขึ้น จำนวนเงินที่ขอเบิกในแต่ละเดือนก็เพิ่มมากขึ้นกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ก่อนเข้ารับตำแหน่งจำเลยที่ 17 ก็ทราบบ้างแล้วถึงความไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่แผนการเงินและบัญชี จึงทำเรื่องเสนอขอให้กรมตำรวจย้ายจำเลยที่ 3 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งสารวัตรการเงินและบัญชีออกไป แต่ก็ไม่อาจย้ายได้โดยทันที ดังนั้น จำเลยที่ 17 จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการตรวจสอบและลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกในแต่ละฎีกาให้เข้มงวดมากขึ้น แม้ข้อความและหลักฐานในฎีกาเบิกเงินที่เสนอให้จำเลยที่ 17 ลงลายมือชื่ออาจไม่พบข้อพิรุธหรือความผิดปกติ แต่จำเลยที่ 17 ควรต้องระแวงสงสัยว่าจำนวนฎีกาและจำนวนเงินรวมที่เสนอขอเบิกจากคลังจังหวัดมีจำนวนมากและสูงผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 17 ยังต้องรับผิดชอบตรวจสอบบัญชีเงินสดและบัญชีเงินคงเหลือเพื่อดูแลรักษาเงินที่เบิกจากคลังจังหวัดว่ายังมีเงินค้างจ่ายในแต่ละวัน แต่ละเดือน ที่ไม่มีหลักฐานการจ่ายอันจะต้องส่งคืนคลังจังหวัดมากน้อยเพียงใด หากจำเลยที่ 17 ได้ทำการตรวจสอบเป็นปกติตามระเบียบการเก็บรักษาและนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ.2520 ย่อมต้องทราบว่าเงินที่เบิกจากคลังจังหวัดมาแล้วยังไม่มีการจ่ายมีมากน้อยเพียงใด เจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมไม่อาจกระทำการทุจริต ทำฎีกาเท็จเบิกเงินซ้ำซ้อนแล้วเบียดบังไปเป็นประโยชน์ของตนได้โดยง่าย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 17 ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการดังกล่าวแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 17 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ที่จำเลยที่ 17 ฎีกาว่า หลังจากทราบการกระทำผิด จำเลยที่ 17 ได้ติดตามยึดทรัพย์คืนได้จากผู้กระทำผิดจำนวนถึง 30 ล้านบาทเศษ จึงต้องนำจำนวนเงินดังกล่าวหักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 17 ต้องรับผิด และหากรวมค่าเสียหายที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดจะเกินกว่าทุนทรัพย์ตามฟ้องนั้น เป็นกรณีที่ความรับผิดของจำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมไม่เกินไปกว่าหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนการจะติดตามทรัพย์สินคืนได้เพียงใดก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 17 ชอบที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นบังคับคดี
จำเลยที่ 11 เป็นคลังจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ตรวจอนุมัติฎีกาเบิกเงินทุกประเภทแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในวันหนึ่ง ๆ คลังจังหวัดต้องลงลายมือชื่ออนุมัติฎีกาประมาณ 100 ถึง 200 ฎีกา เป็นที่เห็นได้ว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจอนุมัติฎีกานั้น จำเลยที่ 11 ต้องดำเนินการโดยรวดเร็วเพื่อให้การปฏิบัติราชการของส่วนราชการในจังหวัดอุบลราชธานีนำเงินไปใช้ในการบริหารงานในส่วนราชการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การตรวจอนุมัติฎีกาของจำเลยที่ 11 เป็นการกระทำในขั้นตอนสุดท้ายของการเสนอขอเบิกเงินจากคลังจังหวัดซึ่งแต่ละฎีกากว่าจะทำเสนอให้จำเลยที่ 11 ตรวจและลงลายมือชื่ออนุมัตินั้น ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากข้าราชการระดับล่างหลายขั้นตอนจนถึงผู้ช่วยคลังจังหวัด ซึ่งจะต้องตรวจสอบความถูกต้องเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะนำเสนอให้จำเลยที่ 11 อนุมัติ เห็นว่า การตรวจสอบก่อนลงลายมือชื่ออนุมัติ จำเลยที่ 11 จะต้องตรวจสอบว่ามีการลงลายมือชื่อครบถ้วนและถูกต้องในฎีกาเป็นลำดับหรือไม่ มีการแก้ไขจำนวนเงินหรือไม่ และจำนวนเงินที่ขอเบิกตรงกันกับใบหน้างบและเอกสารแนบท้ายฎีกาหรือไม่ จึงถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามวิสัยและพฤติการณ์ของผู้อนุมัติฎีกาแล้ว การที่จำเลยที่ 11 ลงลายมือชื่ออนุมัติในฎีกาที่มีการตรวจผ่านตามลำดับขั้นตอน และตามระเบียบราชการ แม้จะเป็นฎีกาที่ไม่ปกติ ก็ไม่ถือว่าจำเลยที่ 11 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงได้ความว่า มีหลายฎีกาที่นอกจากจำเลยที่ 11 ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นผู้อนุมัติฎีกา จำเลยที่ 11 ยังได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ตรวจฎีกาแทนที่ผู้ช่วยคลังจังหวัดอีกฐานะหนึ่งด้วย ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 11 ในส่วนนี้ จำเลยที่ 11 ต้องปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบความยิ่งกว่าการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อนุมัติฎีกาเพียงฐานะเดียว โดยเฉพาะฎีกาที่ไม่ปกติหลายฎีกาต่อเนื่องกัน หากตามพฤติการณ์จำเลยที่ 11 ควรทราบถึงความผิดสังเกตของฎีกาไม่ปกติแล้ว จำเลยที่ 11 ลงลายมือชื่อตรวจผ่านและลงลายมือชื่ออนุมัติในฐานะคลังจังหวัดด้วยแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 11 ถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่อ
อายุความเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดนั้น ต้องนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งหมายความถึงว่าผู้เสียหายต้องรู้ถึงความเสียหายด้วย รายงานการสอบสวนและบันทึกความเห็นในการดำเนินคดีนั้น มุ่งสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดอาญาและการฟ้องร้องผู้กระทำผิดให้รับโทษทางอาญา ในรายงานการสอบสวนและบันทึกดังกล่าวไม่ปรากฏจำนวนความเสียหายว่ามากน้อยเพียงใด จึงไม่อาจเริ่มต้นนับอายุความ 1 ปี อันเป็นวันที่โจทก์ได้รับทราบรายงานการสอบสวนและบันทึกความเห็นในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำการทุจริต
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 15 รับผิดสำนวนแรกโดยมีทุนทรัพย์ตามฟ้องจำนวน 19,597,486.38 บาท ให้จำเลยที่ 17 และที่ 18 รับผิดสำนวนที่สอง โดยมีทุนทรัพย์ตามฟ้องจำนวน 40,271,015.97 บาท และให้รับผิดสำนวนที่สามโดยมีทุนทรัพย์ตามฟ้องจำนวน 27,275,927.55 บาท ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 15 ถึงที่ 18 ร่วมกับจำเลยอื่นใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทุกสำนวนแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามสำนวนรวม 100,000 บาท นั้น เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยแต่ละคนร่วมรับผิดตามจำนวนเงินที่ฟ้องทั้งหมดโดยไม่แบ่งแยกเป็นรายสำนวน ซึ่งมีผลให้จำเลยบางคนต้องร่วมรับผิดในสำนวนที่ไม่ถูกฟ้องหรือข้อเท็จจริงตามที่พิจารณาได้ความไม่ปรากฏความรับผิดร่วมด้วย เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) รวมทั้งเพื่อความถูกต้องในการบังคับคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง