คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5558/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 18 ต.ค. 2556 09:45:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พฤติการณ์ที่โจทก์ได้ดำเนินการนำเรือทั้งสามลำกลับมาประเทศไทยด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์ รวมทั้งได้เอาประกันภัยเรือทั้งสามลำในระหว่างเดินทางไว้กับจำเลย เป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นได้ชัดว่า โจทก์ได้รับโอนความเสี่ยงภัยในเรือทั้งสามลำจากผู้ขายตั้งแต่ก่อนเรือทั้งสามลำออกเดินทางแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรือชูไก 2 ในขณะเรือชูไก 2 สูญหายไป สัญญาประกันภัยเรือชูไก 2 ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามกรมธรรม์ประกันภัยจึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในความสูญหายของเรือชูไก 2 จากจำเลยได้
เรือชูไก 1 เป็นเรือกลเดินทะเลขนาด 99.97 ตันกรอส จัดอยู่ในประเภทเรือกลเดินทะเลขนาดต่ำกว่า 500 ตันกรอส หากจะใช้ในกิจการเดินเรือระหว่างประเทศ นายเรือของเรือชูไก 1 จะต้องมีประกาศนียบัตรนายเรือของเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่งขนาดต่ำกว่า 500 ตันกรอส หรือประกาศนียบัตรนายเรือของเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่งขนาด 500 ถึง 3,100 ตันกรอส และได้รับประกาศนียบัตรที่เหมาะสมสำหรับนายเรือของเรือนั้น ธ. ผู้ทำหน้าที่นายเรือของเรือชูไก 1 มีประกาศนียบัตรนายเรือของเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่งขนาด 500 ถึง 3,100 ตันกรอส แม้ ธ. จะยังไม่ได้รับประกาศนียบัตรที่เหมาะสม แต่ตามหนังสือของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีก็รับรองว่า การทำหน้าที่นายเรือของเรือชูไก 1 ขณะเกิดเหตุ ธ. มีประกาศนียบัตรคนประจำเรือสูงกว่าประกาศนียบัตรตามกำหนดข้อบังคับการตรวจเรือสำหรับการเป็นนายเรือชูไก 1 ถึง 2 ชั้น โจทก์เพิ่งซื้อและรับมอบเรือชูไก 1 พร้อมกับเรือชูไก 2 และชูไก 3 จากผู้ขายที่ประเทศญี่ปุ่น จึงยังมิได้จดทะเบียนเรือไทย การนำเรือชูไก 1 กลับประเทศไทย จึงต้องมีการออกทะเบียนเรือไทยชั่วคราว เพื่อให้เรือมีสัญชาติไทยเพื่อสะดวกในการนำเรือชูไก 1 ออกจากประเทศญี่ปุ่นกลับมายังประเทศไทยเป็นกระบวนการรับมอบเรือเพื่อนำมาใช้ในกิจการของโจทก์ จึงยังไม่อาจถือได้ว่า เรือชูไก 1 เป็นเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศ ธ. ก็เคยทำหน้าที่นายเรือนำเรือรู้ค้า 1 และรู้ค้า 2 จากประเทศญี่ปุ่น เดินทางกลับมายังประเทศไทยแล้ว การทำหน้าที่นายเรือของเรือชูไก 1 ของ ธ. จึงไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับกฎระเบียบของกรมเจ้าท่า
โจทก์จัดให้เรือทั้งสามลำอยู่ในสภาพพร้อมออกเดินทางในทะเลได้อย่างปลอดภัย ส่วนสภาพอากาศและท้องทะเล ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุทะเลมีคลื่นลมแรงจัด คลื่นสูงกว่า 3 เมตร ทำให้เรือทั้งสามลำมีการฉุดกระชากกัน ทำให้เชือกที่ผูกยึดโยงเรือชูไก 1 และเรือชูไก 2 ขาด เรือชูไก 2 และเรือชูไก 3 หลุดไปจากการควบคุม และทำให้เรือชูไก 2 จมหายไป ซึ่งสภาพแห่งท้องทะเลที่อาจมีคลื่นลมแรง และคลื่นสูงกว่าปกติ เป็นเหตุการณ์ปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในท้องทะเล และการที่เชือกที่ใช้ยึดโยงเรือขาด ก็มิได้หมายความว่าเชือกที่ใช้มีขนาดเล็กหรือการยึดโยงไม่เหมาะสม สภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้พุกใช้เชือกยึดเรือชูไก 2 หลุดจากตัวเรือ แสดงว่า ความรุนแรงในการฉุดกระชากที่มากกว่าปกติ การที่เชือกไม่ขาดแต่เหนี่ยวกระชากจนพุกหลุด ซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการคาดคะเน ถือได้ว่า ความสูญหายหรือเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นภัยพิบัติทางทะเลโดยแท้ มิได้เกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลใดหรือเกิดขึ้นจากความบกพร่องโดยตรงของการกระทำของบุคคลใด ทั้งมิใช่ความเสียหายตามปกติธรรมดาหรือซึ่งคาดหมายได้ว่าน่าจะเกิดขึ้นโดยทั่วไปจากการเดินเรือ ความสูญหายของเรือชูไก 2 จึงเกิดจากภัยพิบัติทางทะเล จำเลยผู้รับประกันภัยต้องรับผิดตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย
ความรับผิดของจำเลยเป็นไปตามสัญญาประกันภัย มิใช่ความรับผิดฐานละเมิด โจทก์จึงชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดเมื่อถูกทวงถามแล้วเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534

ผู้พิพากษา

สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
อร่าม เสนามนตรี
รัตน กองแก้ว

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android