คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3790/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 19 ส.ค. 2558 12:49:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้ดูแลสวนอาหารสีน้ำ ในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ในงานดนตรีกรรม คำร้องทำนองของผู้แต่ง ผู้ประพันธ์งานดนตรีกรรม คำร้องทำนอง โดยแพร่เสียงแพร่ภาพและเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งผลงานเพลงผู้ชนะสิบทิศอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต นั้น ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 คำว่า "เผยแพร่ต่อสาธารณชน" หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนโดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น ซึ่งเห็นได้ว่าการเผยแพร่ต่อสาธารณชนนี้อาจมีการกระทำประการใดประการหนึ่งในหลายประการตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเพียงว่า โดยแพร่เสียงแพร่ภาพและเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยไม่บรรยายถึงข้อเท็จจริงให้เห็นว่าจำเลยกระทำการใดโดยแน่ชัด ก็ย่อมไม่อาจเข้าใจได้ว่าจำเลยกระทำการอย่างไรในการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 การบรรยายฟ้องในส่วนนี้จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ที่ 1 เท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องต่อมาว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 ในงานผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสิ่งบันทึกเสียง งานโสตทัศนวัสดุ งานภาพพิมพ์ (ปก) โดยได้ทำการแพร่เสียงแพร่ภาพและเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งผลงานเพลงอกหักไม่ว่า อันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าสิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวได้มีการบันทึกภาพการขับร้องหรือบรรเลงเพลงอกหักไม่ว่า ลงในแผ่นเสียง เทปคาสเซต ซีดี วิดีโอเทป วิดีโอซีดี หรือบันทึกลงในวัสดุใด และจำเลยกระทำการเผยแพร่งานดังกล่าวต่อสาธารณชนด้วยการทำให้ปรากฏด้วยเสียงหรือภาพโดยวิธีใดเช่นเดียวกัน ส่วนงานภาพพิมพ์ (ปก) นั้น โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพพิมพ์นี้และจำเลยได้นำงานดังกล่าวออกแสดงต่อสาธารณชนโดยวิธีใดอีกเช่นกัน ทั้งภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุท้ายคำฟ้อง ก็ไม่ได้สื่อความหมายให้เข้าใจตามคำฟ้องได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด คำฟ้องในส่วนนี้ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองบรรยายให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุและภาพพิมพ์ของโจทก์ที่ 2 เท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเช่นกัน การบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวทั้งสองส่วนจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158

ผู้พิพากษา

ธนสิทธิ์ นิลกำแหง
อร่าม เสนามนตรี
สมควร วิเชียรวรรณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android