คำพิพากษาย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยการกระทำเดียว แต่ให้ศาลเลือกลงโทษในฐานใดฐานหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศาลชั้นต้นเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานรับของโจร แม้จะเป็นการแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ย่อมถือว่าโจทก์พอใจ โจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ไม่ได้
การแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นการแก้ไขทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง ซึ่งการแก้บทลงโทษมีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงบทลงโทษจากบทหนึ่งเป็นอีกบทหนึ่ง หรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิม ซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและสูงแตกต่างกันมาก และลักษณะความผิดในแต่ละวรรคนั้นแตกต่างกัน เช่น ความผิดในวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และอีกวรรคหนึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นต้น
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) วรรคแรก โดยไม่ได้ใช้อัตราโทษตามที่มาตรา 336 ทวิ กำหนดไว้นั้น ลักษณะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 วรรคแรก และวรรคสองไม่แตกต่างกันและมีระวางโทษขั้นต่ำจำคุกตั้งแต่ 1 ปี เหมือนกัน ต่างกันเฉพาะระวางโทษขั้นสูงซึ่งมาตรา 335 วรรคแรก ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 5 ปี วรรคสอง ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 7 ปี ส่วน ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แก้บทลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพียงแต่แก้จำนวนโทษมิได้แก้บทลงโทษ จึงเป็นกรณีแก้ไขเล็กน้อย
คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อจำเลยทั้งสองฎีกาพร้อมกับคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีไม่ต้องห้ามจำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพราะศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ไขมากและมีคำสั่งรับฎีกานั้น จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225