คำพิพากษาย่อสั้น
การทำสัญญาจ้างแรงงานแม้ลูกจ้างบางส่วนเป็นคนสัญชาติไทยบางส่วนเป็นคนต่างชาติ แต่ทำสัญญาจ้างแรงงานในราชอาณาจักรไทยและทำงานในเรือประมงที่ถือสัญชาติไทย ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทย จำเลยทั้งห้าจ้างลูกจ้างทำประมงทะเลในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซียเกินกว่าหนึ่งปีแม้ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 แต่ยังคงอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เช่นเดียวกับการจ้างแรงงานอื่นทั่วไป เพราะไม่ได้รับยกเว้นการบังคับใช้ตามมาตรา 22 และนิติสัมพันธ์ยังต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยสัญญาจ้างแรงงาน
การทำประมงทะเลในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซียจะต้องได้รับสัมปทานที่มีกำหนดเวลาแน่นอนคราวละหนึ่งปี แต่อาจมีการต่ออายุสัมปทานไปได้เรื่อยๆ การทำสัญญาจ้างลูกจ้างแม้จะกำหนดระยะเวลาเป็นเทอม แต่ในการทำงานจริงลูกจ้างทำงานไม่มีระยะเวลาที่แน่นอนขึ้นอยู่กับการได้รับต่อใบอนุญาตจับปลาจากรัฐบาลประเทศอินโดนีเซียหรือไม่ สภาพของเรือ และลูกจ้างก็ทราบว่าใช้ระยะเวลาในการไปทำประมงประมาณ 3 หรือ 4 ปี จึงเป็นการจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหนึ่งงวดของการชำระค่าจ้าง หรือต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อไม่ปรากฏว่ามีกำหนดวันจ่ายค่าจ้างไว้แน่นอนจึงให้ถือว่ามีกำหนดจ่ายค่าจ้างเดือนละหนึ่งครั้งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 วรรคหนึ่ง (1) และจ่ายทุกวันสิ้นเดือนตาม ป.พ.พ. มาตรา 580
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้บัญญัติไว้ในหมวดที่ 9 ว่าด้วยเรื่องการควบคุม มาตรา 112, 113 ให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่สิบคนขึ้นไปจัดทำทะเบียนลูกจ้าง ซึ่งต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อตัวและชื่อสกุล อัตราค่าจ้าง ประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จ่ายให้แก่ลูกจ้าง เอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้าง หากนายจ้างไม่สามารถแสดงทะเบียนลูกจ้างและเอกสารการจ่ายค่าจ้างกับค่าตอบแทนอย่างอื่น หรือแสดงได้ไม่สมบูรณ์ครบถ้วน เมื่อมีข้อสงสัยฝ่ายนายจ้างก็ต้องรับผิดต่อลูกจ้างในประเด็นดังกล่าวเพราะมีหน้าที่จัดทำเอกสารนั้นโดยตรง
จำเลยมอบอำนาจให้ไต๋เรือเป็นตัวแทนกำหนดค่าจ้างลูกจ้างตำแหน่งต่างๆ ตามอัตราทั่วไป โดยประมาณให้ลูกจ้างแต่ละคนทราบเมื่อแรกเข้าทำงาน หลังจากออกเรือทำงานไปสองเที่ยวเรือแล้วจึงจะกำหนดค่าจ้างที่แท้จริงให้ลูกจ้างทราบ การที่จำเลยจะมากำหนดอัตราค่าจ้างในภายหลังโดยลดค่าจ้างเมื่อเรือกลับเข้าฝั่งโดยอ้างว่าปรึกษาหารือกับไต๋เรือเท่ากับเป็นการกำหนดค่าจ้างตามอำเภอใจ ย่อมไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างและถือว่าเป็นสัญญาจ้างที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้างมีผลบังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1