คำพิพากษาย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจำเลยยื่นอุทธรณ์ กำหนดว่า จำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดโดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ซึ่งระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 12 ปีเศษ ยังไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 74 (1) (2) (3) ศาลชั้นต้นได้ว่ากล่าวตักเตือนจำเลยแล้วมอบตัวให้ผู้ปกครองรับไปอบรมดูแล โดยวางข้อกำหนดผู้ปกครองต้องระวังมิให้จำเลยก่อเหตุร้ายอีกภายใน 2 ปี นับแต่วันพิพากษา มิฉะนั้นผู้ปกครองของจำเลยต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละ 3,000 บาท และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยไม่ได้กระทำโดยประมาท เป็นอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์โดยขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ แต่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ ก็เป็นการชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 122 เพราะผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาจะรับอุทธรณ์ของจำเลยก็ตาม แต่ก็มิได้มีข้อความที่จะจับใจความได้ว่าได้ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้อุทธรณ์ได้และจำเลยก็มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี จึงถือว่าคดีไม่มีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาใหม่อีก ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 74 วรรคแรก แห่ง ประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ข้อความใหม่แทน มาตรา 74 (2) (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิดกำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งต้องไม่เกิน 3 ปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 1,000 บาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น โดยตาม มาตรา 74 (2) ที่แก้ไขใหม่ กำหนดไว้ว่า ให้ศาลกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 10,000 บาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น ดังนั้นกฎหมายเดิมจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3 ที่ศาลชั้นต้นนำมาตรา 74 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาบังคับแก่จำเลยนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225