คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8877/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 21 มิ.ย. 2556 18:02:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 3 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นย่า แต่เมื่อยังไม่บรรลุนิติภาวะย่อมต้องตกอยู่ใต้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาและผู้เสียหายที่ 2
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์กระทงแรกนั้น จำเลยโทรศัพท์นัดหมายเด็กหญิง จ. ผู้เสียหายที่ 3 ให้ไปพบแล้วพาผู้เสียหายที่ 3 ไปบ้านจำเลย แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 ฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ 3 สมัครใจไปจากผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 เอง หลังจากที่จำเลยกระทำชำเราแล้ว จำเลยไปหาผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ต่อว่าจำเลยและเรียกค่าสินสอดจากจำเลย แต่จำเลยไม่มีเงินให้ จากนั้นจำเลยรับผู้เสียหายที่ 3 ไปอยู่ด้วย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลยได้ว่าประสงค์จะเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 3 เป็นภริยา เมื่อจำเลยยังมิได้มีภริยาจึงสามารถที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 3 ฉันสามีภริยาได้ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม แต่เป็นการกระทำที่ล่วงล้ำต่ออำนาจปกครองดูแลของบิดาและย่าผู้เสียหายที่ 3 ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาหรือผู้ดูแล จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก
ส่วนการกระทำความผิดของจำเลยกระทงที่สองนั้น เมื่อจำเลยได้มาเจรจาสู่ขอผู้เสียหายที่ 3 จากผู้เสียหายที่ 2 แต่จำเลยไม่มีเงินค่าสินสอด ในวันรุ่งขึ้นจำเลยก็ไปรับผู้เสียหายที่ 3 มาอยู่ด้วย กระทั่ง ม. มารับผู้เสียหายที่ 3 กลับไป แสดงว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 3 ไปเพื่อร่วมอยู่กินฉันสามีภริยา ฟังไม่ได้ว่าจำเลยพรากผู้เสียหายที่ 3 ไปจากบิดาหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277

ผู้พิพากษา

ชีพ จุลมนต์
วิรุฬห์ แสงเทียน
โสฬส สุวรรณเนตร์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android