คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 23 ก.ย. 2558 09:49:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 1 กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนินกิจการตามปกติต่อไปได้ อันเป็นเรื่องที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 บัญญัติให้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้โดยเฉพาะ หาได้มีผลต่อความรับผิดของจำเลยที่ 4 ผู้ค้ำประกันที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องในคดีนี้แต่อย่างใด ทั้งการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เด็ดขาด ก็มีผลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามามีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับความรับผิดของจำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 59 (2) ที่ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 4 ด้วย
การโอนสิทธิเรียกร้องคดีนี้เป็นการโอนอันเนื่องมาจากการรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงิน ระหว่างธนาคาร ส. โจทก์ กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท ตามที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันแถลงแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน โดยกำหนดให้โจทก์รับโอนกิจการจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ดังนี้ กรณีจึงต้องด้วย พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 38 ตรี วรรคสอง ที่บัญญัติยกเว้นไว้ให้ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่ง ป.พ.พ.
คำสั่งศาลที่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง การที่โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวใช้สิทธิขอรับชำระหนี้หรือได้รับชำระหนี้บางส่วนในระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ หาได้ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิดไม่ คงมีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ลดลงตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว ซึ่งมีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 4 ลดลงตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น
การฟ้องเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเป็นการฟ้องให้ผู้กู้ปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาก่อน ตามหนังสือขอให้ชำระหนี้นั้นมีเนื้อหาระบุไว้เพียงว่า จำเลยทั้งสี่เป็นหนี้อยู่จำนวนเท่าใดและขอให้จัดการชำระหนี้ทั้งหมด ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา หนังสือดังกล่าวจึงเป็นเพียงแต่การทวงถามหรือเตือนให้ชำระหนี้เท่านั้น ไม่อาจแปลหรือถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงในสัญญาและนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี ทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ตามข้อตกลงแม้ลูกหนี้ผิดนัดแล้วก็ตาม เมื่อโจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 1 ปี มาทบรวมกับยอดเงินต้นแล้วดอกเบี้ยที่ทบนั้นก็กลายเป็นต้นเงินไม่เป็นดอกเบี้ยที่ค้างอีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60
  • พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 38 ตรี
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306

ผู้พิพากษา

สมชาย พงษธา
ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์
ประทีป ดุลพินิจธรรมา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android