คำพิพากษาย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13 (1) บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้าง โดยสภาพการจ้างหมายความรวมถึงค่าจ้างด้วย คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ใช้อำนาจกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเมื่อเกษียณอายุสำหรับลูกจ้างที่ทำงานก่อนเกษียณอายุเกิน 15 ปี เท่ากับค่าจ้างที่ได้รับก่อนเกษียณอายุเป็นจำนวน 300 วัน ดังนั้น ค่าจ้างทุกประเภทไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไรย่อมเป็นค่าจ้างที่จะนำมาใช้ในการคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเมื่อเกษียณทั้งสิ้น การที่นายจ้างจัดทำบัญชีเงินเดือนแยกประเภทค่าจ้างเป็นหลายบัญชีและเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปไม่เป็นผลให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำค่าจ้างในบัญชีใดบัญชีหนึ่งมาคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงาน
สำหรับเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นมีลักษณะเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานปกติในวันทำงานของลูกจ้าง เงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กำหนดให้ถือเอาอัตราค่าจ้างเป็นเกณฑ์ในการคำนวณจ่ายค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเมื่อเกษียณอายุ ดังนั้น ในการจ่ายค่าตอบแทนความชอบในการทำงานนายจ้างต้องจ่ายให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายซึ่งต้องรวมเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นมาเป็นฐานคำนวณด้วย การที่จำเลยกับสหภาพแรงงานทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยมีเงื่อนไขมิให้นำเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นไปรวมกับค่าจ้างเพื่อคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงาน จึงเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสหภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง จำเลยจึงต้องนำเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นไปรวมคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงานด้วย