คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8223/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 18 ต.ค. 2555 14:26:01

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คดีก่อน แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 17 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2547 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยนำเงิน 29,400,000 บาท ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดของเจ้าพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตาม ป.อ. หรือกฎหมายอื่น โอน รับโอน เปลี่ยนสภาพไปหรือกระทำการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลยเพื่อซุกซ่อน ปกปิด แหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น เพื่อปกปิดอำพรางไม่ให้ผู้ใดพบเห็นและทราบถึงลักษณะที่แท้จริง ตลอดจนทั้งการได้มาซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงินโดยฝ่าฝืนกฎหมาย แต่คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ นอกจากจะขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 แล้ว โจทก์ยังขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 มาด้วย ส่วนคดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 17 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2547 จำเลยซึ่งเป็นพนักงานบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยได้เบิกเงินของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสว่างแดนดินไปรวม 22 ครั้ง รวมเป็นเงิน 29,400,000 บาท แล้วไม่นำมาเก็บรักษาไว้ในที่ทำการไปรษณีย์สว่างแดนดิน หรือนำไปใช้จ่ายในกิจการของที่ทำการไปรษณีย์สว่างแดนดิน แต่กลับเบียดบังเอาไปเป็นของตนเองหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ขอให้ลงโทษเฉพาะตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 11 เห็นได้ว่า วันเวลา สถานที่รวมถึงการกระทำที่กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้เป็นวันเวลา สถานที่เดียวกัน และเป็นการกระทำในคราวเดียวกันกับคดีก่อนของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาและวินิจฉัยถึงการกระทำความผิดของจำเลยต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ในคดีดังกล่าวแล้วว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่ามีการทุจริตยักยอกเงินถึง 22 ครั้ง แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมมิได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ทั้งศาลชั้นต้นก็มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ และโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เช่นนี้ถือได้ว่าศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาการกระทำความผิดของจำเลยและมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงระงับไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11
  • พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

ผู้พิพากษา

ชีพ จุลมนต์
วีระวัฒน์ ปวราจารย์
โสฬส สุวรรณเนตร์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android