คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8717/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 24 ก.ย. 2556 13:58:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คำร้องของผู้ร้องแสดงเหตุอย่างชัดแจ้งว่าคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการไม่อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาหรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการอย่างไร และขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว เป็นคำร้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้ว จึงไม่เคลือบคลุม
ผู้ร้องนำสืบแต่เพียงลอยๆ ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อธรรมเนียมการก่อสร้าง จึงขัดต่อบทบัญญัติ มาตรา 34 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โดยไม่นำสืบว่าธรรมเนียมการก่อสร้างนั้น
ปฏิบัติกันอย่างไร ข้ออ้างของผู้ร้องตามคำแก้อุทธรณ์จึงฟังไม่ขึ้น
สัญญาว่าจ้างข้อที่ 3 ข้อที่ 18 และข้อที่ 20 มีข้อตกลงกล่าวโดยสรุปว่า การขอขยายระยะเวลาทำงานหรือระยะเวลาก่อสร้าง ผู้ร้องจะต้องแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบเพื่อขออนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือทำเป็นหนังสือ ฉะนั้นที่อนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า แม้งานบางส่วนมีอุปสรรคเกี่ยวกับการรอแบบและวัสดุที่แก้ไข แต่มีงานหลายอย่างที่ไม่มีปัญหาแต่ผู้ร้องกลับทำไม่แล้วเสร็จ และผู้ร้องไม่ทำหนังสือขอขยายเวลาทำการตามสัญญาข้อที่ 20 ถือว่าผู้ร้องสละสิทธิการขอขยายเวลาและถือว่าผู้ร้องผิดสัญญา การบอกเลิกสัญญาของผู้คัดค้านจึงชอบนั้น เป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยหลักและเงื่อนไขตามสัญญาว่าจ้างงานภูมิสถาปัตย์แล้ว จึงอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ
การที่ผู้ร้องอ้างเหตุทำนองว่าความล่าช้าของงานเกิดจากความผิดของผู้คัดค้านที่มีส่วนร่วมด้วยหรือผู้คัดค้านทราบเหตุแห่งการล่าช้าทุกครั้งเมื่อไม่มีการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรโดยไม่มีเหตุผล ผู้ร้องมีสิทธิขอขยายระยะเวลาทำงานออกไปได้นั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการในการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งการที่อนุญาโตตุลาการจะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกันย่อมเป็นสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบ
การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าผู้ร้องปฏิบัติผิดสัญญาและผิดนัดชำระหนี้ ผู้ร้องจึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตามสัญญาข้อที่ 21 แต่เห็นว่าค่าปรับที่ตกลงเป็นค่าเสียหายกรณีปฏิบัติผิดสัญญามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งสูงเกินส่วนจึงปรับลดให้นั้น เป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาและเป็นไปตามกฎหมายแล้ว ไม่ใช่การวินิจฉัยนอกเหนือสัญญาและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จึงไม่ใช่คำชี้ขาดข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และไม่เป็นกรณีที่ว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง (1) (ง), (2) (ข) อันจะเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40
  • พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 34

ผู้พิพากษา

อร่าม แย้มสอาด
สิงห์พล ละอองมณี
ชุติมนต์ โพธิเดช

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android