คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7898/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 18 ต.ค. 2555 14:25:29

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ในการไต่สวนคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลย แม้ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดไต่สวนให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีโอกาสคัดค้านก่อน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งคู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคแรก ก็ตาม แต่การที่จะขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ตามวรรคสองของมาตราดังกล่าวกำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยกข้อค้านเรื่องผิดระเบียบขึ้นไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความ หรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น
คดีปรากฏตามสำนวนว่าศาลชั้นต้นเบิกจำเลยซึ่งต้องขังอยู่ในเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งจะครบกำหนดที่จำเลยต้องยื่นฎีกาในวันที่ 23 ธันวาคม 2548 และศาลชั้นต้นนัดฝ่ายโจทก์มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 วันที่ 19 ธันวาคม 2548 โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับสำเนาฎีกาของจำเลยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 และทนายโจทก์ร่วมทั้งสองทำคำแก้ฎีกามายื่นต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549 ดังนี้ ทนายโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งปรากฏว่าได้รับหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ด้วยย่อมเห็นได้จากสำเนาฎีกาของจำเลยว่า จำเลยยื่นฎีกาลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2549 ภายหลังวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ฟังเป็นเวลาถึง 2 เดือน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจำเลยจะต้องยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่จำเลยได้ฟังคำพิพากษา ย่อมทราบถึงการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้จำเลยโดยไม่ได้ให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีโอกาสคัดค้านคำร้องของจำเลยตั้งแต่ได้รับสำเนาฎีกาจากโจทก์ร่วมทั้งสองก่อนจะยื่นคำแก้ฎีกาในวันที่ 7 มีนาคม 2549 แล้ว ซึ่งถือว่าโจทก์ร่วมทั้งสองได้ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างที่ขอให้เพิกถอนการพิจารณาตามคำร้องนับแต่นั้นแล้ว แต่โจทก์ร่วมทั้งสองมิได้ยื่นคำร้องอย่างช้าภายใน 8 วัน นับแต่ทราบพฤติการณ์ดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ โดยโจทก์ร่วมทั้งสองเพิ่งมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้จำเลยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 คำร้องของโจทก์ร่วมทั้งสองจึงยื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกคำร้อง
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องโดยอ้างว่าพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย อันเป็นการฎีกาว่าจำเลยไม่ได้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนตามฟ้องอันเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันไปด้วยในตัว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกกระทงละไม่เกินห้าปี ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่หากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืน และพาอาวุธปืนด้วย ศาลก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 215
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27

ผู้พิพากษา

ธนัท วิรบุตร์
สมศักดิ์ ตันติภิรมย์
เฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android