คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9513/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 13 พ.ย. 2555 13:51:31

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY ของโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ ทป. 79/2547 มีประเด็นวินิจฉัยว่า จำเลยกับพวกละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ โดยผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงที่มีรูปทรง สัณฐาน ขนาดและสีอันเป็นการใช้การประดิษฐ์ที่โจทก์ยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้ก่อนแล้วหรือไม่ และในคดีหมายเลขดำที่ ทป. 120/2548 มีข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์เป็นประเด็นให้ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยผลิต ขาย และเสนอขาย ผลิตภัณฑ์ลูกบอลดับเพลิง โดยละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 18966 ของโจทก์หรือไม่ เห็นได้ว่าประเด็นในคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ ทป. 79/2547 และคดีหมายเลขดำที่ ทป.120/2548 ข้างต้นมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์คนละสิทธิแตกต่างกัน มูลเหตุแห่งการละเมิดสิทธิอันเป็นการโต้แย้งสิทธิที่ก่อให้โจทก์มีอำนาจฟ้องย่อมแตกต่างกัน มิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ชอบที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเป็นคนละคดีกันได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อนกับคดีทั้งสอง
ปัญหาว่า จำเลยละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า สิทธิในการใช้นามหรือชื่อของบุคคลนั้น แม้บุคคลอื่นอาจใช้ชื่อคล้ายกันได้ก็ตามแต่ก็ต้องไม่ทำให้ผู้ที่ใช้อยู่ก่อนต้องเสื่อมเสียประโยชน์โดยมิชอบโดยไม่ได้รับความยินยอม มิฉะนั้นย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการใช้ชื่อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 420 หรือ 421 และกรณีผู้มีสิทธิในการใช้ชื่อทางการค้าก็มีลักษณะอันควรอนุโลมใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเพื่อการรับรองและคุ้มครองสิทธิในชื่อทางการค้าด้วย คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า เมื่อปี 2542 โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดโดยใช้ชื่อว่า บริษัทสยาม เซพตี้ พรีเมียร์ จำกัด ใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า SIAM SAFETY PREMIER CO., LTD. และโจทก์ได้ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ดับเพลิงโดยเฉพาะลูกบอลดับเพลิง ซึ่งกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นและมีการดำเนินการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จนได้รับสิทธิบัตรโดยให้โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรทั้งในประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งโจทก์ได้ใช้ชื่อดังกล่าวประกอบกิจการดังกล่าวและนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งประกอบกับรูปประดิษฐ์เป็นเครื่องหมายบริการและเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรแล้ว ดังนี้จึงฟังได้ว่าชื่อดังกล่าวมีลักษณะเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์ ส่วนจำเลยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในภายหลังเมื่อปี 2546 โดยใช้ชื่อว่า บริษัทสยาม เซฟตี้ เทคโนโลยี จำกัด หรือ SIAM SAFETY TECHNOLOGY CO., LTD. ซึ่งนอกจากจะคล้ายกับชื่อทางการค้าของโจทก์แล้วยังได้นำคำที่เป็นส่วนสำคัญในชื่อทางการค้าของโจทก์คือคำว่าสยามเซฟตี้ หรือ SIAM SAFETY มาใช้เป็นส่วนสำคัญในชื่อบริษัทจำเลย การใช้คำที่เป็นส่วนสำคัญของชื่อทางการค้าของโจทก์เช่นนี้อาจทำให้ผู้ที่จะซื้อสินค้าสับสนหลงผิดว่าเป็นบริษัทเดียวกันได้ โดยแม้ชื่อของโจทก์จะมีคำว่า "พรีเมียร์" ต่อท้ายคำดังกล่าวและชื่อของจำเลยจะมีคำว่า "เทคโนโลยี" ต่อท้ายคำดังกล่าวด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นคำที่ไม่มีลักษณะเด่นที่มีความสำคัญสำหรับสังเกตจดจำได้ดังเช่นคำว่า สยาม เซพตี้ หรือแม้ผู้ซื้อจะสังเกตโดยละเอียดเห็นความแตกต่างดังกล่าวได้ก็อาจเข้าใจได้ว่าจำเลยเป็นบริษัทเครือเดียวกับโจทก์หรือมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จึงถือได้ว่าจำเลยใช้คำว่า สยามเซพตี้ หรือ SIAM SAFETY ของโจทก์ และจำเลยยังใช้ชื่อเช่นนี้ในการประกอบกิจการค้าอย่างเดียวกับโจทก์ การกระทำของจำเลยเช่นนี้ย่อมเป็นการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ที่มีโอกาสทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ในการประกอบกิจการค้าของตนได้ และเมื่อปรากฏว่าจำเลยผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงเช่นเดียวกับโจทก์ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรจนเกิดมีคดีพิพาทในเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์กันมาแล้ว หากปรากฏว่าทำให้เกิดผลเสียต่อการประกอบกิจการของโจทก์ก็ย่อมถือว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์
แม้จำเลยจะทำกล่องบรรจุสินค้าให้มีสีแตกต่างกับของโจทก์และมีการพิมพ์ชื่อบริษัทจำเลยรวมทั้งโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและชื่อบริษัทจำเลยหรือสำนักงานของจำเลยอยู่ห่างจากโจทก์มากก็ตาม แต่ลักษณะการขายสินค้าของโจทก์และจำเลยเป็นไปในลักษณะกระจายการขายไปทั่วประเทศ เมื่อมีชื่อในส่วนสำคัญเหมือนกันก็ย่อมทำให้ผู้ซื้อสับสนหลงผิดได้อยู่นั่นเอง จากเหตุผลดังวินิจฉัยมาข้างต้นจึงเชื่อได้ว่า การที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ดังกล่าวในการประกอบกิจการของจำเลยเช่นนี้ทำให้โจทก์ต้องเสียหายเสื่อมเสียประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 420 และ 421 โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลบังคับห้ามจำเลยใช้ชื่อโดยละเมิดต่อโจทก์ และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้
การที่จำเลยนำคำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY อันเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์มาใช้อันจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ด้วยเหตุที่การใช้ชื่อนั้นทำให้โจทก์เสียหายเสื่อมเสียประโยชน์ซึ่งเมื่อจำเลยใช้ชื่อจนทำให้โจทก์เสียหายดังกล่าวซึ่งมีการใช้และการเสียหายเกิดขึ้นตลอดเวลาที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าดังนั้น ตราบที่จำเลยยังคงใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์อยู่จนถึงวันฟ้อง การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตลอดเวลาเรื่อยมา มิใช่เป็นการละเมิดครั้งเดียวในวันที่จำเลยใช้ชื่อนี้แต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18

ผู้พิพากษา

ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร
อร่าม เสนามนตรี
ปริญญา ดีผดุง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android