คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11912/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 11 ต.ค. 2555 09:25:45

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยาม "ค่าจ้าง" หมายความว่า "เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น..." ซึ่งตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือระบุเรื่องค่าจ้างและการจ่ายค่าจ้างไว้ในข้อ 3 และระบุค่าเบี้ยเลี้ยงไว้ในข้อ 3.2 เพียงว่า ค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 140 บาท ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้โจทก์ที่ปฏิบัติงานบนเรือเป็นอัตราแน่นอนทุกเดือนระหว่างออกไปปฏิบัติงาน โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ซึ่งเป็นนายเรือทำงานประจำบนเรือจะต้องปฏิบัติงานที่อื่นใดนอกจากบนเรือดังกล่าว เบี้ยเลี้ยงที่จำเลยจ่ายโจทก์จึงเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เป็นรายเดือน การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเบี้ยเลี้ยงเป็นค่าจ้างเมื่อรวมกับเงินเดือนแล้วโจทก์จึงได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 84,200 บาท จึงชอบแล้ว
เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเมื่อโจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญาจ้างคราวละ 6 เดือน การนับระยะเวลาทุกช่วงเข้าด้วยกันจึงมิชอบด้วยกฎหมายนั้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 20 บัญญัติว่า "การที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกันโดยนายจ้างมีเจตนาที่จะไม่ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิใดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่านายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานในหน้าที่ใด และการจ้างแต่ละช่วงมีระยะเวลาห่างกันเท่าใดก็ตามให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้น" ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งนายเรือตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2543 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2547 โดยทำสัญญาจ้างแรงงานช่วงเวลาละ 6 เดือนต่อเนื่องกันอีก 6 ช่วง ซึ่งการทำสัญญาจ้างแรงงานในลักษณะดังกล่าวทำให้โจทก์มีระยะเวลาการทำงานไม่ติดต่อกัน สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างก็จะได้ไม่เท่าสิทธิตามที่บัญญัติในมาตรา 118 จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิในค่าชดเชยของโจทก์ตามมาตรา 20 การที่ศาลแรงงานกลางนับระยะเวลาการทำงานของโจทก์ทุกช่วงเข้าด้วยกัน เห็นว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยครบสามปีแต่ไม่ครบหกปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (3) จึงชอบแล้ว แต่ในส่วนของการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อโจทก์นำเรือกลับถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครแล้วจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาการจ้างในสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือข้อ 2 เช่นนี้ สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมิต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยจ้างโจทก์ให้เป็นคนประจำเรือตำแหน่งนายเรือ ซึ่งในวันครบกำหนดตามสัญญาจ้างอาจเป็นวันที่โจทก์ยังนำเรือกลับมาไม่ถึงกรุงเทพมหานคร เพราะเรือยังอยู่ในความควบคุมของโจทก์ การที่โจทก์และจำเลยตกลงว่าการเดินทางกลับมาไม่ถึงมิให้เป็นการต่ออายุสัญญาจ้าง ซึ่งมีผลทำให้สัญญาจ้างครบกำหนดเมื่อเรือเดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานครแล้ว ย่อมเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ตกเป็นโมฆะแต่ประการใด ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทันทีที่โจทก์นำเรือกลับมาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครเป็นการเลิกจ้างเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้าง ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 20
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118

ผู้พิพากษา

พิทยา บุญชู
ดิเรก อิงคนินันท์
ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android