คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6407/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 17 ต.ค. 2555 13:15:18

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 วรรคสอง เพียงแต่บัญญัติยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในการดำเนินคดีในศาล แต่มิได้มีบทบัญญัติใดกล่าวถึงอำนาจศาลในการที่จะพิจารณาสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับผิดชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมต่อศาลในนามของผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลเหมือนเช่นกรณีการได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลเพราะได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 158 (เดิม) ก็ตาม แต่กรณีก็ต้องนำบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 158 (เดิม) ดังกล่าวมาใช้บังคับแก่กรณีการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมแก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในการดำเนินคดีในศาลในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง ดังนั้น แม้กฎหมายจะยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือโจทก์ก็ตาม แต่อานิสงส์เช่นว่านี้ก็ไม่ควรเป็นประโยชน์ที่ตกได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ฟ้องหรือสู้ความโดยไม่สุจริต โดยเหตุนี้หากในการพิพากษาคดีศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า จำเลยที่ 2 ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่แพ้คดีจะต้องเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 2 นั้นชำระค่าฤชาธรรมเนียมอื่น นอกจากค่าทนายความต่อศาลในนามของโจทก์ผู้ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมนั้นได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องซึ่งเป็นวันที่โจทก์ขอ แต่กลับพิพากษาให้ชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง อันเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนโดยมิได้แก้ไข ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 158
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4

ผู้พิพากษา

เฉลิมชัย ตันตยานนท์
ธานิศ เกศวพิทักษ์
สมชาย จุลนิติ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android