คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11315/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 8 ต.ค. 2555 10:40:02

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยนำคำว่า "โต๊ะกัง" ซึ่งเป็นชื่อนิติบุคคลโจทก์ที่ 1 และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลจำเลยตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 และยังคงใช้ชื่อดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงวันฟ้อง อันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อเนื่องกันฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อโจทก์ทั้งสองใช้คำว่า "โต๊ะกัง" และ "ตั้งโต๊ะกัง" ซึ่งเป็นชื่อปู่โจทก์ที่ 2 เป็นชื่อนิติบุคคลและเครื่องหมายการค้ากับการค้าทองมานานกว่า 50 ปี จนมีชื่อเสียงก่อนที่จะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลย โจทก์ที่ 1 แม้เป็นนิติบุคคลย่อมมีสิทธิในการใช้นามว่า "โต๊ะกัง" และ "ตั้งโต๊ะกัง" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 67 และมาตรา 18 การที่จำเลยประกอบกิจการค้าทองโดยใช้ชื่อว่า "บริษัทห้างค้าทองโต๊ะกังเยาวราช ดิ โอล์ด สยาม จำกัด" ซึ่งมีคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อบริษัทจำเลย ย่อมทำให้เกิดความสับสนหลงผิดว่ากิจการค้าของจำเลยเกี่ยวข้องกับการค้าทองของโจทก์ทั้งสอง อันทำให้โจทก์ทั้งสองต้องเสื่อมเสียประโยชน์แม้ว่าชื่อนิติบุคคลจำเลยจะประกอบด้วยคำอื่นนอกเหนือจากคำว่า "โต๊ะกัง" และโจทก์ที่ 1 กับจำเลยจะเป็นนิติบุคคลคนละประเภทก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้จำเลยมีสิทธิใช้คำว่า "โต๊ะกัง" เป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อบริษัทจำเลย และการที่นายทะเบียนของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครยินยอมจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยเป็นนิติบุคคลโดยใช้ชื่อดังกล่าว ก็เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และความเห็นของนายทะเบียน แต่ไม่ได้หมายความว่าการดำเนินการของนายทะเบียนดังกล่าวจะก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะใช้ชื่อบริษัทจำเลยเสมอไป หากการใช้ชื่อบริษัทจำเลยก่อให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลและนิติบุคคลอื่นที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 67 และมีการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอความคุ้มครองแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยระงับความเสียหายและร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยกระทำการดังกล่าวได้ โดยมีอำนาจฟ้องห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อที่มีคำว่า "โต๊ะกัง" รวมอยู่ด้วย และการที่จำเลยนำคำว่า "โต๊ะกัง" ซึ่งเป็นชื่อนิติบุคคลห้างโจทก์ที่ 1 มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยโดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้จนเป็นเหตุให้เสื่อมประโยชน์ของโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 18 จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 30
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 67
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18

ผู้พิพากษา

วัส ติงสมิตร
อร่าม เสนามนตรี
สมควร วิเชียรวรรณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android