คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10660/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 8 ต.ค. 2555 10:18:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 6 บัญญัติว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้" และมาตรา 211 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" ดังนี้แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 211 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวไว้พิจารณาจะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่าคำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมหาใช่ว่าเมื่อคู่ความมีคำโต้แย้งอย่างไรแล้ว ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยทุกกรณีไม่ คดีนี้จำเลยฎีกาว่า ป.วิ.พ. มาตรา 293 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2549 มาตรา 3 บังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264, 272 ประกอบมาตรา 2, 4, 29, 30, 233 ใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 6 ซึ่งข้อฎีกาของจำเลยล้วนแต่อ้างว่าการตีความของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้งดการบังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้นเนื่องจากยังไม่มีการบังคับคดีและจำเลยมิได้ยื่นฟ้องโจทก์ เป็นคดีเรื่องอื่นในศาลเดียวกัน ไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 293 ไม่เป็นธรรมแก่คู่ความ เป็นการตีความที่คับแคบขัดต่อพระราชดำริการตีความและการใช้กฎหมายที่ประสงค์จะให้ตีความอย่างอะลุ่มอล่วย ให้เกิดความสุขในบ้านเมือง ทั้งการอ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 2, 4, 29, 30, 233 ก็ไม่ชัดแจ้งว่าขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตราต่างๆ ดังกล่าวอย่างไร บทบัญญัติดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่กระทำให้บุคคลไม่มีความเสมอกันในกฎหมายหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เท่าเทียมกัน ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างไร ป.วิ.พ. มาตรา 293 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการงดการบังคับคดีเพิ่มเติมจากหลักทั่วไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 โดยมาตรา 293 เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะของดการบังคับคดีโดยมีสิทธิหักกลบลบหนี้กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และแม้จะได้ความตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 293 วรรคหนึ่ง กฎหมายก็ให้อำนาจศาลที่จะให้งดการบังคับคดีหรือไม่ เมื่อกรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ในมาตรา 293 ดังกล่าว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงได้ยกคำร้องของจำเลย คำโต้แย้งของจำเลยไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 264 แม้ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยคดีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จะได้ยกเลิกและไม่มีศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยก็ตาม ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 272
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 233
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 30
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 29
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 4
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 2
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 3
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 211
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 6
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293

ผู้พิพากษา

ประพันธ์ ทรัพย์แสง
สุรศักดิ์ กาญจนวิทย์
ชำนาญ รวิวรรณพงษ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android