คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 691/2554

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 26 มิ.ย. 2555 09:57:59

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือมีโทษสถานหนักกว่านั้น แม้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องได้ต่อเมื่อพยานโจทก์ตามที่นำสืบรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าวจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดและพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง จำเลยก็ยังมีสิทธิอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด และขอให้กำหนดโทษให้เบาลงและรอการลงโทษได้กรณีมิใช่เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำรับสารภาพ หรือเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งจะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
จำเลยเข้าไปกระตุกสร้อยคอของผู้เสียหายที่ 1 จนหลุดออก แล้วได้ตบตีผู้เสียหายที่ 1 การกระตุกสร้อยคอกับการตบตีทำร้ายร่างกาย จึงแยกออกเป็น 2 ตอน จำเลยมิได้ลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายที่ 1 เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 (1) แต่เป็นการใช้กิริยาฉกฉวยเอาสร้อยคอและรูปสัญลักษณ์ศาสนาอิสลามทองคำของผู้เสียหายที่ 1 ไปซึ่งหน้า จึงเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยฉกฉวยเอาสร้อยคอของผู้เสียหายที่ 1 ไปซึ่งหน้า อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์และคำขอท้ายฟ้องมิได้ขอให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ คงลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (8) วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดที่ประกอบเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
จำเลยพูดขอเงินกับผู้เสียหายที่ 2 ว่า หากไม่ให้เงินจะทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ต่อไป เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้เงินจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 (1) วรรคสอง แต่ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ผู้เสียหายที่ 2 ตามฟ้องศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐานดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
ศาลชั้นต้นพิพากษาตามฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวและโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษ ศาลฎีกาจึงปรับบทความผิดและบทลงโทษให้ถูกต้องได้ แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 337 (1) วรรคสอง อีกกรรมหนึ่งได้เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335

ผู้พิพากษา

อมรรัตน์ ดีศรีวงศ์
สนอง เล่าศรีวรกต
ประทีป ดุลพินิจธรรมา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android