คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7379/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 3 ต.ค. 2555 13:48:31

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยร่วมให้การในชั้นแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยร่วม จำเลยที่ 2 นั่งรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับมาเพราะต้องไปปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเปิดปิดการระบายน้ำในการชลประทาน จำเลยที่ 2 มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการขับรถและมิได้เป็นตัวการตัวแทนกับจำเลยที่ 1 แต่ต่อมาจำเลยร่วมยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ โดยขอเพิ่มเติมว่า การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-2541 สิงห์บุรี โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งไปด้วยจนไปเกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ดังที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด กล่าวคือจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมในตำแหน่งช่างก่อสร้างชั้น 3 ซึ่งได้รับอนุมัติให้ขับรถยนต์ของจำเลยร่วมได้ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2540 ซึ่งหมายความว่า มีหน้าที่ขับรถเฉพาะรถยนต์ของจำเลยร่วมเท่านั้น แต่ในวันเวลาที่เกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 1 กลับไปขับรถยนต์คันเกิดเหตุที่ไม่ใช่รถยนต์ของจำเลยร่วม โดยไม่ได้ขออนุญาตเดินทางไปราชการและไม่ได้ขออนุมัติการใช้รถยนต์คันเกิดเหตุ ประกอบกับวันเวลาเกิดเหตุเป็นวันหยุดราชการและมีบุคคลอื่นคือนาง ป. ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมนั่งไปด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมในตำแหน่งพนักงานส่งน้ำ แต่ไม่ได้เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยร่วมประสงค์จะให้การยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่และใช้ข้อความนี้แทนข้อความเดิมที่ว่า จำเลยที่ 2 นั่งในรถยนต์กระบะคันที่จำเลยที่ 1 ขับไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่เปิดปิดการระบายน้ำในการชลประทานนั่นเอง เพียงแต่มิได้ระบุว่าขอตัดข้อความตามคำให้การเดิมและขอใช้ข้อความใหม่ตามที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมแทน กับมีข้อความตอนท้ายที่ระบุขอถือตามคำให้การเดิมทุกประการ ซึ่งก็เห็นได้ว่าเป็นการผิดหลงหรือสับสนเท่านั้น ไม่ควรนำมาเป็นเหตุให้ถือว่าคำให้การของจำเลยร่วมดังกล่าวมานั้นขัดแย้งกันเพราะขัดต่อเหตุผลตามปกติธรรมดา แต่ควรถือเอาข้อความที่มีเหตุผลสื่อให้เข้าใจได้ตามความตั้งใจที่แท้จริงที่แสดงจนไม่ปรากฏให้เห็นได้ว่ามีเจตนาหรือตั้งใจยืนยันให้การในข้อเท็จจริงใดยิ่งกว่า จึงถือไม่ได้ว่าคำให้การจำเลยร่วมขัดแย้งกันจนไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177

ผู้พิพากษา

ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร
วีระวัฒน์ ปวราจารย์
เมทินี ชโลธร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android