คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079/2554

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 5 มิ.ย. 2555 10:04:59

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2548 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ดังกล่าวก็มีฐานะเป็น พ.ร.บ.ฉบับหนึ่งที่มีการประกาศใช้แยกมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 การที่มีประกาศคณะการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับดังกล่าว กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง จึงหามีผลทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 สิ้นสุดลงตามไปด้วยไม่อีกทั้งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ข้อ 4 ยังได้บัญญัติด้วยว่า "ศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ คงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรคคดีตามบทกฎหมาย ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย" อันเป็นการรับรองให้กฎหมายทั้งปวงที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนการปฏิรูปการปกครองยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไปอีกด้วย ดังนั้น เมื่อไม่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับใดออกมาบัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้จึงยังผลใช้บังคับต่อไป สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (5) และแม้ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจะมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ใช้บังคับโดยให้ยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ก็ตาม แต่ความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาพผู้แทนราษฎรโดยรู้อยู่แล้วว่าบุคคลนั้นไม่สิทธิสมัครรับเลือกตั้งซึ่งมาตรา 34 และมาตรา 139 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 อันเป็นกฎหมายที่ได้บัญญัติภายหลังยังคงบัญญัติให้การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดอยู่และมีระวางโทษเท่าเดิมซึ่งไม่มีส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยจึงไม่ทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งไม่เป็นกรณีต้องนำกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมาปรับใช้แก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และมาตรา 3
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549
  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 139
  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 34
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2

ผู้พิพากษา

โสพส สุวรรณเนตร์
วีระวัฒน์ ปวราจารย์
ชีพ จุลมนต์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android