คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8642/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 24 ก.ค. 2555 12:56:49

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ในชั้นพิจารณาผู้เสียหายเบิกความในตอนแรกระบุว่าคนร้ายคือจำเลยและ จ. ซึ่งเป็นคนรู้จักกันมาก่อนเพราะมีบ้านอยู่ใกล้กับบ้านพักของผู้เสียหาย หลังเกิดเหตุผู้เสียหายชี้ยืนยันบุคคลตามภาพถ่ายที่เจ้าพนักงานตำรวจให้ดู แต่ต่อมากลับเบิกความว่าจำเลยไม่ใช่คนร้ายแล้วเบิกความต่อไปว่า ในกระต๊อบที่เกิดเหตุมืดจึงไม่เห็นหน้าและรูปพรรณของคนร้าย ตอนท้ายเบิกความในทำนองว่าคนร้ายชื่อ ก. แต่เป็นคนละคนกับจำเลย ผู้เสียหายไม่รู้จักและไม่เคยเห็นหน้าจำเลย ที่อ้างว่าไม่เห็นหน้าคนร้ายเพราะในกระต๊อบมืดนั้นขัดแย้งกับที่ยืนยันว่าจำเลยไม่ใช่คนร้ายแต่เป็น ก. อีกคนหนึ่งที่มีชื่อซ้ำกัน ทั้งไม่สมเหตุสมผลเพราะคนร้ายเข้าประชิดตัวผู้เสียหายขณะกระทำชำเราอีกทั้งผู้เสียหายเบิกความว่าออกจากกระต๊อบมาทันได้เห็นคนร้ายเดินไปที่วงสุราข้างนอกกระต๊อบน่าจะมีแสงสว่างพอให้มองเห็นหน้าคนร้ายได้ ที่อ้างว่าคนร้ายเป็นคนละคนกับจำเลย เพียงแต่ชื่อเหมือนกันก็มีพิรุธ เพราะในชั้นสอบสวนผู้เสียหายระบุตัวจำเลยชัดเจนทั้งชื่อ รูปพรรณ ทั้งระบุว่าจำเลยพักอยู่บ้านใกล้ ๆ ห่างบ้านของผู้เสียหายเพียง 50 เมตร และรู้จักมารดาของจำเลยด้วย นอกจากนี้หลังเกิดเหตุเพียง 3 วัน ฉ. บิดาจำเลยก็ตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย จึงแสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้เสียหายระบุตัวจำเลยเป็นคนร้ายตั้งแต่แรก ไม่ใช่เรื่องผิดตัวที่ผู้เสียหายเบิกความในชั้นพิจารณา จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงไปเพื่อช่วยเหลือจำเลยเพราะไม่ติดใจเอาความแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงใช้ดุลพินิจวินิจฉัยรับฟังคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนเป็นความจริงมากกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจริง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226

ผู้พิพากษา

อภิรัตน์ ลัดพลี
ศิริชัย วัฒนโยธิน
ทวีป ตันสวัสดิ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android