คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8387/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 24 ก.ค. 2555 13:18:54

คำพิพากษาย่อสั้น

 
หนังสือมอบอำนาจที่มอบอำนาจให้ฟ้องคดีสำนวนแรกระบุข้อความไว้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. (โจทก์) โดย อ. หุ้นส่วนผู้จัดการ ขอมอบอำนาจให้ ธ. เป็นผู้มีอำนาจยื่นฟ้อง ง. (จำเลยที่ 1) รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีล้มละลาย ในการนี้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนทนายความ รวมทั้ง... การรับเงินหรือเอกสารจากคู่ความหรือศาล และการดำเนินการในชั้นบังคับคดีเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินหรืออื่น ๆ ได้จนเสร็จการ การใดที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปภายในขอบเขตแห่งหนังสือฉบับนี้ ให้มีผลผูกพันโจทก์เสมือนกับโจทก์ได้ทำด้วยตนเองทุกประการ ส่วนหนังสือมอบอำนาจที่ให้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนที่สอง จำเลยที่ 1 และที่ 4 ในสำนวนที่สาม จำเลยที่ 1 และที่ 5 ในสำนวนที่สี่ จำเลยที่ 1 และที่ 6 ในสำนวนที่ห้านั้น ข้อความที่ว่าให้มีอำนาจฟ้องรวมถึงผู้เกี่ยวข้องเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีล้มละลาย รวมทั้งข้อความอื่นคงเป็นเช่นเดียวกันทุกประการ ดังนี้ การมอบอำนาจของโจทก์ในแต่ละสำนวนคดีเป็นการมอบอำนาจให้ ธ. ฟ้องร้องคดีนี้และคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยที่ 1 ด้วย โดยไม่มีข้อความจำกัดว่าเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเพียงคดีเดียว จึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำมากกว่าครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ของ ป.รัษฎากร กำหนดในข้อ 7 ว่า กรณี (ข) มอบอำนาจให้บุคคลเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียวต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 30 บาท เมื่อตามหนังสือมอบอำนาจโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ธ. ทำการฟ้องคดีแพ่งและคดีอื่น ๆ แทนโจทก์ได้ จึงต้องปิดอากรแสตมป์ 30 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์เพียง 10 บาท จึงเป็นการปิดอากรแสตมป์ในเอกสารไม่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย หนังสือมอบอำนาจจึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ในขณะที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานจึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 118 เมื่อหนังสือมอบอำนาจไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ กรณีย่อมฟังไม่ได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ธ. ฟ้องจำเลยที่ 1 ธ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ทั้งห้าสำนวน แทนโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยรวมไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา และต้องฟังว่า ธ. ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ด้วยเหตุผลเดียวกัน การที่ ธ. ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ผลจึงเท่ากับว่าไม่มีตัวโจทก์เข้ามาฟ้องคดี กรณีเช่นนี้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ย่อมตกไป เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาตามฟ้องแย้งนั้นจะต้องมีตัวโจทก์เดิมที่เป็นจำเลยตามฟ้องแย้งอยู่ด้วย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 118
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60

ผู้พิพากษา

นวลน้อย ผลทวี
พันวะสา บัวทอง
พิศล พิรุณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android