คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7152/2553

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 11 ต.ค. 2555 09:18:26

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ป.พ.พ. มาตรา 1497 บัญญัติว่า "การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้" การสมรสซ้อนตามมาตรา 1452 จึงอาจเป็นโมฆะได้โดยบุคคลผู้มีส่วนได้เสียกล่าวอ้าง เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 กล่าวอ้างว่าการสมรสระหว่างตนเองกับ ช. เจ้ามรดกเป็นการสมรสซ้อนผลก็คือทำให้การสมรสเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าวและการสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคแรก ดังนั้น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสไม่เป็นสินสมรสของจำเลยร่วมที่ 1 กับ ช. ที่โจทก์จะยึดมาขายทอดตลาดชำระหนี้ของจำเลยร่วมทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของ ช. กับจำเลยที่ 1
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 แล้วยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาในคดี จำเลยร่วมที่ 1 ได้ยื่นคำให้การอยู่แล้วว่า การสมรสระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับ ช. เจ้ามรดกเป็นโมฆะเพราะเป็นการสมรสซ้อน โจทก์จึงทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวมาแล้วจากคำให้การของจำเลยร่วมที่ 1 แต่โจทก์ก็ยังยินยอมที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 โดยในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า ในส่วนของจำเลยร่วมทั้งสามขอรับผิดเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของ ช. จึงมิใช่เป็นการฉ้อฉลโจทก์ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1497

ผู้พิพากษา

ทวี ประจวบลาภ
สมชาย สินเกษม
อุบลรัตน์ ลุยวิกกัย

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android