คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3432/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 15 พ.ค. 2555 09:43:26

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินค่าจ้างโดยบรรยายฟ้องสรุปได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เข้าทำสัญญารับจ้างรับเหมาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิ และเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้เป็นผู้รับเหมาช่วงติดตั้งต่อเติมอาคารดังกล่าว จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจ้างโจทก์ระบุเงื่อนไขในการทำงานและได้รับค่าจ้างตามหนังสือสัญญาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จะว่าจ้างช่วงหรือให้ใครเป็นผู้ปฏิบัติงานเป็นอำนาจของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างและชำระเงินให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ประสานงานให้จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ กับตรวจรับมอบงานแทนจำเลยที่ 1 และเบิกค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 มามอบให้โจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ดังนั้น แม้ตามคำให้การจำเลยที่ 2 มิได้ใช้ถ้อยคำว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 แต่เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้ว เห็นได้ในตัวว่าจำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821

ผู้พิพากษา

วีระชาติ เอี่ยมประไพ
อาวุธ ปั้นปรีชา
สมชาย พันธุมะโอภาส

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android