คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8438/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 11 ต.ค. 2555 10:51:46

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตามบัญชีอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฎากร ลักษณะแห่งตราสารอันดับที่ 7 ใบมอบอำนาจ หมายถึง ใบตั้งตัวแทน และในส่วนค่าอากรแสตมป์นั้นหากมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียว ค่าอากรแสตมป์ 10 บาท หากมอบอำนาจให้กระทำมากกว่าครั้งเดียว ค่าอากรแสตมป์ 30 บาท ซึ่งแม้การตั้งตัวแทนนั้นอาจต้องมอบให้ตัวแทนกระทำการหลายอย่างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตัวการต้องการก็เป็นเรื่องปกติของการตั้งตัวแทนให้กระทำการแทนในกิจการต่าง ๆ แล้วแต่ว่ากิจการนั้นจะต้องกระทำการอย่างเดียวหรือหลายอย่าง และหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ดังกล่าวก็มิได้กำหนดให้ค่าอากรแสตมป์ขึ้นอยู่กับการกระทำแทนอย่างเดียวหรือหลายอย่างในการตั้งตัวแทนครั้งเดียว หากแต่กำหนดค่าอากรแสตมป์โดยเพียงให้ขึ้นอยู่กับการตั้งตัวแทนให้กระทำการเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้งหากมอบอำนาจให้กระทำการได้หลายครั้งก็ต้องปิดอากรแสตมป์ 30 บาท เท่านั้นโดยไม่จำกัดว่าในการกระทำการแทนหลายครั้งนั้น แต่ละครั้งจะต้องมีการกระทำกี่อย่าง ดังนั้น แม้ในการกระทำการแทนแต่ละครั้ง ผู้รับมอบอำนาจจะต้องกระทำการอย่างเดียวหรือหลายอย่าง ก็คงต้องเสียค่าอากรเพียง 30 บาท เท่านั้น
โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์รับฝากเงินจากผู้ฝากเงิน แล้วนำมาให้สินเชื่อแก่ลูกค้าที่ต้องการสินเชื่อโดยเฉพาะหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท คดีนี้มีมูลหนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่จำเลยที่ 1 ต้องการซื้อสินค้าจากผู้ขายซึ่งอยู่ต่างประเทศจึงขอให้โจทก์ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อประกอบการสั่งซื้อและชำระค่าสินค้าแก่ผู้ขายสินค้านั้น โดยโจทก์ยอมตนเข้าผูกพันชำระเงินค่าสินค้าเองตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตที่โจทก์เป็นผู้ออก ซึ่งเมื่อโจทก์ชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นแล้วย่อมถือว่าเป็นการให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 1 และเมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่สามารถชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปดังกล่าวแก่โจทก์ จึงทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อรับเอกสารจากโจทก์ไปใช้รับสินค้าจากผู้ขนส่งก่อน โดยตกลงจะชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ภายหลังตามเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาทรัสต์รีซีท จึงเห็นได้ว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาก่อผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นการให้สินเชื่อแล้วเรียกเอาหนี้จากการให้สินเชื่อนั้นโดยตรง หาใช่กรณีที่โจทก์เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าที่มีหน้าที่ต้องส่งมอบของแก่จำเลยที่ 1 หรือทำการงานหรือดูแลกิจการให้จำเลยที่ 1 แล้วเรียกเอาค่าของที่ส่งมอบหรือค่าการงานที่ทำหรือค่าดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 หรือเงินที่ได้ออกทดรองไปก่อนแต่อย่างใด จึงมิใช่สิทธิเรียกร้องอันมีกำหนดอายุความ 2 ปี แต่เป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ถือไม่ได้ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวขาดอายุความตามมาตรา 193/34 (1) ส่วนที่อ้างว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 193/34 (7) ด้วย นั้น ตามคำให้การก็ไม่ได้ให้การยกอายุความตามมาตราดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และเมื่อหนี้ตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นหนี้ร่วม การชำระหนี้ดังกล่าวจึงเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ สมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ไม่ได้ฎีกาดังกล่าวด้วย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลรัษฎากร
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34

ผู้พิพากษา

บุญรอด ตันประเสริฐ
สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
รัตน กองแก้ว

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android