คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5202/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 11 ต.ค. 2555 10:33:40

คำพิพากษาย่อสั้น

 
งานที่จะได้รับความคุ้มครองในลักษณะของงานศิลปกรรม แม้กฎหมายจะไม่ได้มุ่งประสงค์ให้งานนั้นต้องมีคุณค่าทางศิลปะ แต่ก็ต้องเป็นงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยตนเอง (Originality) ในลักษณะที่ควรจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หาใช่เป็นเพียงงาน (Work) ซึ่งทำขึ้นโดยทั่วไปเท่านั้น
ภาพกราฟฟิครูปประกายดาว (Starburst) ของโจทก์ทั้งสอง แม้นาย ม. จะเป็นผู้สร้างขึ้นด้วยตนเอง โดยอ้างว่าสร้างสรรค์จากมโนภาพการระเบิดของดาวหางพุ่งชนกับวัตถุที่โคจรอยู่ในระบบบจักรวาลแต่พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบ จะเห็นได้ว่าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาดต่างก็ใช้รูปประกายดาวเป็นภาพประกอบเช่นกันซึ่งน่าจะเป็นการสื่อให้เห็นถึงคุณสมบัติในการทำความสะอาดของสินค้านั่นเอง แนวคิดหรือมโนภาพที่นาย ม. กล่าวอ้างจึงเป็นแนวคิดที่ใช้กันอยู่สำหรับสินค้าประเภทนี้นอกจากนี้ภาพกราฟฟิครูปประกายดาวของโจทก์ทั้งสอง แม้จะมีความแตกต่างจากรูปประกายดาวตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบมา แต่ความแตกต่างดังกล่าวยังเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยและไม่เป็นสาระสำคัญถึงขนาดที่จะเป็นงานสร้างสรรค์อันควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ส่วนภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์แม้จะเป็นรูปทรงกลมอันเป็นรูปทางเรขาคณิตทั่วไปและภาพวาดรูปมือมีลักษณะของการจัดวางมือสองข้างที่จับอยู่บนเสื้อ ก็เป็นงานสร้างสรรค์รูปทางที่ประกอบด้วยเส้นและสี โดยไม่ปรากฏว่าได้ลอดเลียนหรือดัดแปลงมาจากงานที่มีอยู่เดิม จึงแสดงให้เห็นถึงความเป็นงานสร้างสรรค์ที่สร้างขึ้นด้วยตนเองงานดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม อันได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์แล้ว แม้ต่อมามีการนำงานนี้ไปใช้ในทางการค้า ก็ไม่เป็นเหตุให้งานดังกล่าวขาดคุณสมบัติที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ส่วนข้อความที่ว่า สูตรมาตรฐาน สำหรับซักมือ เป็นเพียงคำสามัญทั่วไปที่ระบุถึงคุณสมบัติของสินค้าผลซักฟอก ทั้งลักษณะที่ใช้ก็มุ่งเน้นสื่อให้เห็นถึงคุณสมบัติของสินค้ามากกว่าที่จะสร้างคำบรรยายดังกล่าวในแง่งานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมในตัวเอง จึงไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ มาตรา 4 บัญญัติเกี่ยวกับงานศิลปประยุกต์ไว้ โดยวัตถุประสงค์ของการให้ความคุ้มครองงานศิลปประยุกต์ คือการนำงานศิลปกรรมลักษณะต่าง ๆ มาใช้ในลักษณะที่เกิดประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าว เมื่อรับฟังได้ว่า ภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์กับภาพวาดรูปมือเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม และเมื่อภาพดังกล่าวถูกนำไปใช้ประกอบกันบนซองบรรจุภัณฑ์เพื่อประกอบเครื่องหมายการค้า อันเป็นการนำเอางานศิลปกรรมไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า การออกแบบซองบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นงานศิลปประยุกต์
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สินค้าของโจทก์ทั้งสองอยู่ในกลุ่มที่มีคุณภาพและราคาสูง ส่วนของจำเลยทั้งสองอยู่ในกลุ่มที่มีคุณภาพและราคาต่ำกว่า กลุ่มผู้บริโภคจึงแตกต่างกัน และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 กับของจำเลยที่ 1 แตกต่างกันทั้งในรูปลักษณะและเสียงเรียกขานอย่างชัดเจนแล้ว โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าอันจะเป็นการลวงขายสินค้าจึงเป็นไปได้น้อย คดีจึงไม่อาจรับฟังว่า จำเลยทั้งสองเจตนาเอารูป รอยประดิษฐ์ลวดลายและข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของโจทก์ที่ 2 มาใช้ หรือทำให้ปรากฏในสินค้าบรรจุภัณฑ์ของจำเลยทั้งสองเพื่อเป็นการลวงขายสินค้าว่าสินค้าของจำเลยทั้งสองเป็นสินค้าของโจทก์ทั้งสอง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 46

ผู้พิพากษา

พรเพชร วิชิตชลชัย
พลรัตน์ ประทุมทาน
พินิจ บุญชัด

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android