คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9334/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 10 พ.ค. 2555 10:35:48

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย มาตรา 39 วรรคสอง และ ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง จะบัญญัติรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลผู้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาไว้หลายประการ กล่าวคือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งให้สิทธิแก่จำเลยที่จะให้การต่อศาลหรือไม่ให้การก็ได้ แต่ในกรณีที่จำเลยให้การต่อศาลแล้วหากประสงค์จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การนั้น จำเลยจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 163 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.อ. ซึ่งหมายความว่าหากจำเลยประสงค์จะขอแก้คำให้การ จำเลยต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลและแสดงเหตุอันสมควรมาในคำร้องขอด้วยว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องแก้หรือเพิ่มเติ่มคำให้การเพราะเหตุใด ทั้งนี้ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ โดยพิจารณาถึงเหตุผลที่จำเลยอ้างอิงในคำร้องขอว่าเป็นเหตุผลอันสมควรหรือไม่
จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดจริงตามฟ้อง โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นจึงนัดฟังคำพิพากษา เมื่อถึงวันฟังคำพิพากษา จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่รับสารภาพตามฟ้องและขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธคำฟ้องโจทก์ แม้คำให้การของจำเลยดังกล่าวระบุว่าจำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่รับสารภาพตามฟ้องและขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์ ก็ถือเป็นการแก้ไขคำให้การตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสองแล้ว เมื่อจำเลยขอแก้ไขคำให้การโดยมิได้ยื่นคำร้องขอแก้คำให้การ และมิได้แสดงให้ปรากฏว่ามีเหตุผลสมควรแก้คำให้การอย่างไร อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง จึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 39

ผู้พิพากษา

มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด
วีระวัฒน์ ปวราจารย์
พิทยา ลิ้มสุวัฒน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android