คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 10 ม.ค. 2555 11:06:55

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 เอกเทศสัญญาลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัทหมวด 5 การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด มาตรา 1249 บัญญัติว่า "ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดีแม้จะได้เลิกกันแล้วก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็น เพื่อการชำระบัญชี" กับมาตรา 1250 บัญญัติว่า "หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไปกับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น" บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวนี้ชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้นิติบุคคลซึ่งเป็นบุคคลสมมติจะเลิกได้นั้น จะต้องมีการชำระบัญชีเพื่อมีการชำระหนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของนิติบุคคลนั้น แล้วแต่กรณีจึงได้กำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีไว้ชัดแจ้ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้และบังคับให้ผู้ชำระบัญชีต้องปฏิบัติ อันจะส่งผลก่อเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่มีมิติสัมพันธ์กับนิติบุคคลยิ่งไปกว่านั้นรัฐยังได้ตรา พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิฯ ซึ่งมีโทษทางอาญากำกับไว้อีกด้วย โดยมาตรา 32 บัญญัติระวางโทษปรับไม่เกินแปดหมื่นบาทแก่ผู้ชำระบัญชีที่ไม่กระทำการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1253 ซึ่งกำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีจะต้องกระทำ เช่น ต้องส่งคำบอกกล่าวว่านิติบุคคลนั้นได้เลิกกันแล้วเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุกๆ คน บรรดามีชื่อปรากฏในสมุด บัญชีหรือเอกสารของห้างหรอืบริษัทนั้น จึงเห็นได้ว่า สำหรับคดีนี้ผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์อีกด้วย โจทก์ได้บรรยายฟ้องระบุจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชี มิได้ส่งคำบอกกล่าวการเลิกบริษัทไปยังโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้ยื่นคำให้การต่อสู้คดี แต่มิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมรับและข้อเท็จจริงย่อมเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีมิได้ส่งคำบอกกล่าวการเลิกบริษัทไปยังโจทก์ ซึ่งเมื่อการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยจำเลยที่ 2 ผู้ชำระบัญชีจงใจไม่ปฏิบัติ และตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลให้เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ดำเนินการชำระบัญชีโดยไม่สุจริตมีเจตนาฉ้อฉลต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ ดังนี้ เมื่อการปรับใช้กฎหมายพึงต้องอนุวัตให้ต้องตามเจตนารมณ์ ที่บัญญัติกฎหมายนั้นตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วในเบื้องต้น จึงต้องถือว่าการชำระบัญชียังไม่สำเร็จลงตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคหนึ่ง การที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนการชำระบัญชีไม่ว่าจะโดยสมรู้กับจำเลยที่ 2 หรือเป็นการหลงผิดก็ไม่ถือว่าการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ได้ถึงที่สุดแล้ว แต่ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตามมาตรา 1249 อายุความสองปีตามมาตรา 1272 จึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ย่อมไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัตินี้และโจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเป็นนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/4 ตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยกขึ้นกล่าวอ้างในคำแก้ฎีกาไม่ ทั้งนี้เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องนายทะเบียนบริษัทมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าบริษัทใดมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว บทบัญญัติในมาตรา 1273/1 จึงกำหนดให้นายทะเบียนต้องมีจดหมายไต่ถามไปยังบริษัทนั้น ซึ่งต่างกับเหตุในคดีนี้ ที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแสดงเจตนาจดทะเบียนเลิกบริษัทเอง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/4
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/1
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1270
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249

ผู้พิพากษา

สมชาย จุลนิติ์
มานัส เหลืองประเสริฐ
มนตรี ยอดปัญญา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android