คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4675/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 18 พ.ย. 2554 09:21:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ชัดเจนพอที่จะฟังได้ว่า สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยในการยับยั้งและจัดเก็บสิทธิในภาพยนตร์หมายถึงอะไร เจ้าของสิทธิ ในต่างประเทศยังคงสงวนสิทธิในการใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อดีข้อเสียในการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยด้วยตนเองเพียงผู้เดียวหรือไม่หากเจ้าของสิทธิในต่างประเทศยังคงสงวนสิทธิดังกล่าว การร้องทุกข์โดยบริษัท บ. จะทำได้ต้องทำในฐานะตัวแทนเจ้าของสิทธิในต่างประเทศซึ่งก็ต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของสิทธิในต่างประเทศให้ทำเช่นนั้นได้ด้วย และไม่เป็นการยากที่เจ้าของสิทธิในต่างประเทศจะทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือทำหนังสือมอบอำนาจให้ชัดเจนหากมีความประสงค์เช่นนั้นจริง และหากมีข้อเท็จจริงเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องระบุไว้ในคำบรรยายฟ้องให้ชัดเจน เพื่อมิให้กระทบถึงเสรีภาพของจำเลยทั้งห้าในการที่อาจถูกดำเนินคดีซ้ำสอง เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ยังไม่มีความชัดเจนในข้อนี้ กรณียังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าบริษัท บ. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าในความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต การแจ้งความร้องทุกข์โดยบริษัท บ. จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย ทำให้การสอบสวนไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง โดยให้มีผลถึงจำเลยที่ไม่อุทธรณ์ด้วย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2

ผู้พิพากษา

อร่าม เสนามนตรี
สมควร วิเชียรวรรณ
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android