คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15623/2553

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 15 ธ.ค. 2554 09:04:56

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยสมัครเป็นสมาชิกของพรรคคนขอปลดหนี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และพรรคได้แจ้งจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาซึ่งมีจำเลยด้วยไปยังนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2549 โดยมีการตีตรารับเอกสารไว้ จำเลยจึงเป็นสมาชิกพรรคคนขอปลดหนี้นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน แม้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยโต้เถียงว่าจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าพรรคคนขอปลดหนี้ไม่ได้แจ้งชื่อจำเลยเป็นสมาชิกพรรคต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองก็ตาม แต่ก็ยังคงเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงในข้อที่ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เนื่องจากจำเลยได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคคนขอปลดหนี้โดยถูกต้องตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 หลังจากนั้นเป็นเรื่องของพรรคที่จะต้องส่งชื่อจำเลยไปยังนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่เกี่ยวกับจำเลย และแม้จำเลยจะอ้างในอุทธรณ์อีกว่า จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยเป็นสมาชิกพรรคคนขอปลดหนี้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน ก็ยังคงเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงในประเด็นที่ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดโดยมีพยานหลักฐานตามที่จำเลยนำสืบ ซึ่งรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้อยู่นั่นเอง จึงหาใช่เป็นการอุทธรณ์นอกฟ้อง นอกประเด็น อันจะทำให้เป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ
แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 บังคับใช้ โดยมาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 แล้วก็ตาม แต่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 139 ยังคงบัญญัติให้การสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นความผิดและต้องรับโทษโดยระวางโทษเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 100 ดังนี้ จึงมิใช่เป็นกรณีบทบัญญัติในภายหลังบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป หรือเป็นคุณแก่จำเลยกว่าบทบัญญัติของกฎหมายเดิม จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากการยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ดังกล่าว ทั้งนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และมาตรา 3
ศาลล่างทั้งสองปรับบทความผิดของจำเลยตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 30 โดยที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งพรรค อันจะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 30 เป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้าง และแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 139
  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 100
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2

ผู้พิพากษา

พินิจ สุเสารัจ
สมศักดิ์ ตันติภิรมย์
วีรา ไวยหงษ์ รินทร์ศรี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android