คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2181/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 7 ต.ค. 2554 08:30:23

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 ต่อเมื่อจำเลยเปิดเผยความลับทางการค้าให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้าสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้าตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ตามฟ้องโจทก์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 นำข้อมูลที่โจทก์อ้างว่าเป็นความลับทางการค้าไปเปิดเผยแก่จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นบริษัทที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันจัดตั้งขึ้น แม้ตามกฎหมายจำเลยที่ 6 ถือเป็นบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่ตามฟ้องเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 นำข้อมูลที่อ้างว่าเป็นความลับทางการค้าไปใช้เองโดยวิธีจัดตั้งจำเลยที่ 6 ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ข้อมูลความลับทางการค้าดังกล่าวยังคงอยู่ในความรู้ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 หรือจำเลยที่ 6 เท่านั้น มิใช่การเปิดเผยข้อมูลให้เป็นที่ล่วงรู้แก่บุคคลอื่นโดยทั่วไป ส่วนฟ้องโจทก์ที่ว่าจำเลยทั้งหกขายเครื่องจักรบรรจุสินค้าลงซองอัตโนมัติให้แก่ลูกค้าของโจทก์หลายราย ก็มิใช่การเปิดเผยข้อมูลความลับทางการค้าเกี่ยวกับกระบวนการผลิตเครื่องจักรดังกล่าวแก่ลูกค้าของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งหกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงไม่เป็นการร่วมกันเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งหกตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 ได้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในทางแพ่งและมี คำขออื่นรวมมาด้วย โดยมีมูลมาจากความรับผิดในทางอาญา พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 เมื่อตามฟ้องไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งหกตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งหกหรือขอให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องในส่วนแพ่ง
คดีนี้มีคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญารวมอยู่ด้วย แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้มีคำสั่งเรื่องความรับผิดของคู่ความในค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงแก้ไขให้ถูกต้อง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33
  • พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

ผู้พิพากษา

ไมตรี ศรีอรุณ
อร่าม เสนามนตรี
สมควร วิเชียรวรรณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android