คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4618/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 28 ก.ย. 2554 09:08:34

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การนับอายุความนั้นต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 เมื่อโจทก์กับจำเลยตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนและจำเลยต้องชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบแจ้งหนี้ เมื่อพ้นกำหนดเวลา 30 วันแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องค่าเช่าค้างชำระได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้สัญญาเช่าสิ้นสุดหรือให้จำเลยส่งมอบเครื่องจักรคืนโจทก์ก่อน อายุความเรียกค่าเช่าค้างชำระ 2 ปี จึงเริ่มนับแต่วันที่จำเลยได้รับใบแจ้งหนี้ในแต่ละฉบับ
เมื่อนับจากวันที่พ้นกำหนดชำระหนี้ในใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับถึงวันฟ้องคือ วันที่ 16 กรกฎาคม 2547 มีเพียงหนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 เพียง 2 ฉบับ ซึ่งจำเลยต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2545 และวันที่ 18 ตุลาคม 2545 เท่านั้นที่ไม่เกิน 2 ปี ส่วนหนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ ซึ่งถึงกำหนดชำระภายในระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2545 เกิน 2 ปีแล้ว แต่จำเลยได้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนรวม 3 ครั้ง โดยชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ซึ่งจำเลยย่อมทราบแล้วว่าจำเลยมีหนี้ที่ถึงกำหนดต้องชำระตามใบแจ้งหนี้ เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ เพราะวันที่ถึงกำหนดชำระตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ อยู่ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2545ซึ่งเป็นวันก่อนที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้าย การที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์หลายจำนวนและนำเงินมาผ่อนชำระหนี้โดยไม่ระบุว่าชำระหนี้รายใด ถือว่าเป็นการชำระหนี้บางส่วนของหนี้ทั้งหมดแล้ว อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงทั้งหมดในวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 ยังไม่เกิน 2 ปี หนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ จึงไม่ขาดอายุความ หนี้ของโจทก์ทั้งหมดตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.16 รวมทั้งสิ้น 10 ฉบับ จึงไม่ขาดอายุความด้วย ส่วนวิธีการชำระหนี้กรณีที่จำเลยไม่ได้ระบุว่าให้ชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้ฉบับใด จึงต้องนำไปชำระหนี้ที่ถึงกำหนดก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง
โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าโจทก์ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้กับกรมสรรพากรอันจะมีสิทธิและหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลย จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยรับผิดค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12

ผู้พิพากษา

มนูพงศ์ รุจิกัณหะ
ประทีป เฉลิมภัทรกุล
สมควร วิเชียรวรรณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android