คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4593/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 7 ก.ย. 2554 09:07:14

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "LASERJET" ของโจทก์แม้จะเป็นคำที่ไม่มีความหมายในพจนานุกรม แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นการนำคำว่า "LASER" และ "JET" ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเป็นที่รู้จักกันทั่วไปมาผสมกัน โดยสามารถเห็นรากศัพท์เดิมจากรูปลักษณะของคำ ทั้งเมื่อออกเสียงเรียกขานคำดังกล่าวก็จะทราบคำศัพท์ดังกล่าวอย่างชัดเจนทันที คำว่า "LASERJET" จึงไม่ใช่คำประดิษฐ์ และเมื่อจะพิจารณาต่อไปว่าคำดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ กล่าวคือ เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาประกอบกับสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนซึ่งจะเห็นได้จากพยานหลักฐานของโจทก์อย่างชัดเจนว่า โจทก์มุ่งเน้นที่จะใช้เครื่องหมายการค้านี้กับเครื่องพิมพ์เป็นหลัก สินค้าเครื่องพิมพ์นี้ จากพยานหลักฐานของโจทก์ คือ เอกสารแนะนำสินค้า ระบุถึงการทำงานของเครื่องพิมพ์สีเลเซอร์เจ็ททำนองว่าเป็นการใช้แสงเลเซอร์ในการทำงาน ดังนั้น คำว่า "LASERJET" นับเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าของโจทก์โดยตรง
เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยในประเด็นเรื่องลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ไว้แล้ว โจทก์ย่อมอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ ซึ่งการนำพยานหลักฐานมาสืบแสดงต่อศาล เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 85 เรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและการยื่นพยานหลักฐานเมื่อโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานตามกฎหมายแล้ว ถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลสามารถหยิบยกขึ้นพิจารณาพิพากษาได้ เพราะไม่มีบทกฎหมายใดห้ามรับฟังพยานหลักฐานที่นำสืบในชั้นศาลโดยไม่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แม้การพิจารณาของศาลในเรื่องนี้จะมีลักษณะเป็นการทบทวนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าถูกต้องหรือไม่ก็ตามแต่ประเด็นสำคัญที่ศาลต้องพิจารณาก็คือ เครื่องหมายการค้าคำว่า "LASERJET" ของโจทก์ควรได้รับการจดทะเบียนหรือไม่นั้นเอง ซึ่งปัญหานี้รับฟังได้จากพยานหลักฐานของโจทก์ว่าสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "LASERJET" มีการจำหน่ายเผยแพร่และโฆษณาในประเทศไทยเป็นเวลาต่อเนื่องกันไม่น้อยว่า 10 ปี นับเป็นเวลานานพอสมควร จนทำให้สาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างจากสินค้าของบุคคลอื่นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสาม และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ จำเลยจึงต้องดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "LASERJET" ของโจทก์ต่อไป
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 85

ผู้พิพากษา

บุญรอด ตันประเสริฐ
พลรัตน์ ประทุมทาน
รัตน กองแก้ว

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android