คำพิพากษาย่อสั้น
ปัญหาว่าทางพิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรรหรือไม่ เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ทั้งสองไม่ได้บรรยายฟ้องมา โจทก์ทั้งสองก็มีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 1 บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดินหมายความว่า การจัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อยมีจำนวนตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไปไม่ว่าด้วยวิธีใด โดยได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเป็นค่าตอบแทน และมีการให้คำมั่นหรือการแสดงออกโดยปริยายว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะหรือปรับปรุงให้ที่ดินนั้นเป็นที่อยู่อาศัย ที่ประกอบการพาณิชย์... การที่ ด. จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3227 ออกเป็น 8 แปลง โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 23161, 23167 ขายให้ ม. มารดาจำเลย ที่ดินโฉนดเลขที่ 23162 ขายให้โจทก์ทั้งสอง ที่ดินโฉนดเลขที่ 23163 ขายให้ ส. ที่ดินโฉนดเลขที่ 23165, 23166 ขายให้ พ. สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 23168 ด. เจ้าของกรรมสิทธิ์ยินยอมให้ ม. มารดาจำเลยเข้าถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตน 26 ส่วน ใน 69 ส่วน โดยมีค่าตอบแทน 234,000 บาท ต่อมายินยอมให้ ม. มารดาจำเลยเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนของ ด. 13 ส่วน ใน 43 ส่วน โดยมีค่าตอบแทน 117,000 บาท หลังจากนั้น ด. และ ม. มารดาจำเลยได้ตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 23168 ออกเป็น 3 แปลง ระบุชื่อ ม. มารดาจำเลยเป็นเจ้าของส่วนที่ดินคงเหลือของโฉนดเลขที่ 23168 ด. ได้ขายให้ ม. มารดาจำเลยอีกการที่ ด. ยินยอมให้ ม. มารดาจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโดยมีค่าตอบแทนและต่อมาได้ตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเป็นโฉนดที่ดิน 3 แปลง ตามพฤติการณ์ฟังได้ว่า ด. จำหน่ายที่ดินทั้ง 3 แปลง ให้ ม. มารดาจำเลยทางอ้อมโดยมีค่าตอบแทนรวมเป็นที่ดินที่ ด. ได้แบ่งแยกและขายแก่บุคคลภายนอก 10 แปลง จึงเป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 เมื่อฟังได้ว่า ด. จัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อยจำนวนตั้งแต่ 10 แปลง และได้มีการให้คำมั่นว่าจะจัดให้ทางพิพาทเป็นทั้งทางเดินและทางรถยนต์สำหรับเข้าออกสู่ทางสาธารณะด้วย ตรงตามความหมายของการจัดสรรที่ดิน ทางพิพาทจึงตกอยู่ในภาระจำยอมโดยผลของกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่การจัดสรรที่ดินตามข้อ 30 วรรคหนึ่ง ของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 จำเลยในฐานะผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทางพิพาทอันเป็นภารยทรัพย์จะกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกหาได้ไม่ การที่จำเลยยินยอมให้ผู้อื่นสร้างรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในทางพิพาทของจำเลยจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยต้องรื้อรั้วและทำให้ที่ดินพิพาทอยู่ในสภาพเดิม